เวลาที่เราประสบปัญหาชีวิต หลายครั้งที่ปัญหาเหล่านั้นมาฉุดรั้งให้ชีวิตเราย่ำแย่ลง เดินช้าลง หรือบางครั้งอาจทำให้เดินหน้าใช้ชีวิตต่อไปไม่ได้เลย แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิต เราจะนึกขึ้นได้ว่า เราต้องกลับมาสู้ ต้องกลับมาฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามทั้งหมดนี้ และเราจะไม่มีวันวกกลับไปที่จุดต่ำสุดของชีวิตแบบนั้นอีกแล้ว การต่อสู้ล้มลุกคลุกคลานของชีวิตมนุษย์แบบนี้ ทำให้เราตระหนักได้ว่า เราทุกคนต่างมีความสามารถในการพยายามทรงตัวเพื่อลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งกันทั้งนั้น ซึ่งสิ่งนี้แหละ คือ Resilience หรือที่รู้จักว่าเป็น ทักษะในการล้มแล้วลุก ความยืดหยุ่น การฟื้นตัว หรือการกลับมาสู่ภาวะสมดุล
Resilience คืออะไร?
Resilience เป็นความสามารถหรือทักษะในการกลับมาสู่ภาวะปกติสมดุลของตัวเราเอง หลังจากเผชิญหน้ากับอุปสรรค ปัญหา ความท้าทาย หรือความล้มเหลวที่สร้างความยากลำบากให้กับชีวิต หรืออีกนัยหนึ่งสามารถเรียกได้ว่า เป็นทักษะทางด้านการปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดจากปัญหาต่าง ๆ ก็ได้เช่นกัน ซึ่งการจะมีทักษะนี้ได้เราต้องมีการปรับตัว 3 ด้านหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และด้านพฤติกรรม อีกทั้งต้องมีการปรับทั้ง 3 ด้านให้สอดคล้องกับปัญหา ทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเราและปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ถ้าทั้ง 3 ด้านมีการปรับตัวสอดคล้องกับปัญหาภายในและภายนอกได้เป็นอย่างดีแล้ว เราจึงจะสามารถเอาชนะและรอดพ้นจากอุปสรรคปัญหาได้อย่างไร้ข้อกังขา
ไม่ว่าคุณจะเจอเหตุการณ์ร้ายแรงขนาดไหนมา สูญเสียคนรัก โดนเลย์ออฟจากการทำงาน เผชิญหน้ากับอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ป่วยเป็นโรคร้ายแรง สุดท้ายแล้ว เมื่อเราผ่านพ้นช่วงเวลาวิตกกังวลที่พาเราเครียดไม่หยุด มันจะมีจุดหนึ่งที่เราจะรู้สึก “พอ” แล้วหันมาเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านั้นอย่างจริงจัง สำหรับใครที่เคยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์เหล่านี้มาแล้ว คุณน่าจะเข้าใจเป็นอย่างดีว่า กว่าจะมาถึงจุดที่รู้สึกพอเสียทีกับความเศร้าโศกเสียใจได้นั้น มันใช้เวลาพอสมควรเลย และในช่วงระยะเวลาเหล่านั้น เราจะได้เรียนรู้ ได้ค้นพบคำตอบของตัวเอง ได้เรียนรู้สิ่งที่จำเป็นต้องรู้ และได้ชาร์จพลังมาเต็มที่ในการฮึดสู้อีกครั้ง แต่เมื่อเราเผชิญหน้ากับปัญหาแต่ละอย่างในชีวิต ถึงแม้ว่าเราจะมีพื้นฐานหรือเครื่องมือในการช่วยรับมือกับมันแล้ว พอเจอปัญหาใหม่ ๆ เราก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้มันใหม่อยู่ดี ดังนั้น การมีทักษะ Resilience ติดตัวไว้จะช่วยให้เรารับมือกับอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเราได้อย่างทันท่วงที
หลัก 7Cs ในการพัฒนาทักษะ Resilience
นายแพทย์ Ken Ginsburg กุมารแพทย์ชาวอเมริกันได้ออกแบบหลัก Resilience ไว้สำหรับเด็กและเยาวชนในการรับมือกับปัญหาชีวิต ถึงแม้ว่าโมเดลนี้จะถูกออกแบบมาเพื่อเด็ก แต่มันยังสามารถปรับใช้มาจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งหลัก 7Cs มีองค์ประกอบ ดังนี้
- Competence : การมีความรู้ความสามารถ
เราจะแก้ปัญหาในชีวิตไม่ได้เลย หากเราไม่มีความรู้พื้นฐานหรือข้อมูลเบื้องต้นกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่ เราจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าเรามีปัญหาเรื่องอะไร เรารู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง และเราสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งการมีความรู้และความสามารถในการเข้าใจปัญหานี้เองจะพาเราไปสู่ทางออกของอุปสรรคทุกอย่างได้
- Confidence : ความมั่นใจ
ความมั่นใจสำคัญต่อการแก้ปัญหามาก เพราะถ้าหากเราไม่มีความมั่นใจมากพอ เราจะไม่กล้าลงมือแก้ไขปัญหาและจะจมปลักอยู่ในความกลัว จนสุดท้ายแล้วเราอาจหาทางออกไม่ได้ ซึ่งความมั่นใจนี้สามารถสร้างได้จากการลงมือแก้ไขปัญหาโดยใช้ความรู้ความสามารถที่เรามีในการแก้ไขปัญหา
- Connection : ความสัมพันธ์รอบข้าง
การมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดี อบอุ่น และไว้ใจดี หรือการมี Support System ที่ดี จะทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยวและไม่ได้ต่อสู้กับปัญหาที่เรากำลังเผชิญหน้าด้วยตัวคนเดียว เรารู้ว่าพวกเขาจะคอยช่วยเหลือ สนับสนุน และให้กำลังใจอยู่เสมอ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการทำให้เรามีแรงใจฮึบสู้กับทุกปัญหาที่ถาโถมเข้ามาได้เป็นอย่างดี
- Character : การเข้าใจในตัวตนของตัวเรา
หากเรามีพื้นฐานทางด้านจิตใจที่มั่นคง อย่างเช่นการเข้าใจตัวตนของตัวเราเอง เราจะรู้สึกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เข้ามาลดทอนคุณค่าตัวตนของเราให้น้อยลง และการเข้าใจตัวตนจะช่วยให้เราตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับเราได้ดีมากยิ่งขึ้น ฉะนั้น อย่าลืมให้ความสนใจโลกภายในตัวเราด้วยนะ
- Contribution : การเต็มใจช่วยเหลือ
เวลาที่เราพบเห็นคนที่ลำบากหรือกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาในชีวิต บางครั้งเรามีโอกาสได้ยื่นมือเข้าไปช่วยพวกเขา และนั่นทำให้เราเห็นว่าชีวิตพวกเขามีพัฒนาการที่ดี ซึ่งความรู้สึกการเต็มใจช่วยเหลือนี่แหละ นอกจากมันจะช่วยให้คนอื่นได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมแล้ว มันยังช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกของความเต็มใจที่จะลงมือทำอะไรสักอย่าง และเมื่อปัญหาเกิดขึ้นกับเราแล้ว เราจึงมีความเต็มใจที่จะแก้ไขปัญหานั้นเหมือนตอนที่เรายื่นมือให้ความช่วยเหลือคนอื่นเช่นเดียวกัน
- Coping : การดูแลตัวเอง
ปัญหาบางอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวันเดียว และใช้เวลามากกว่าที่คิด ในระหว่างที่ปัญหายังไม่ได้ถูกแก้ไขทั้งหมดสิ้นนั้นอาจสร้างความกดดันให้กับเราได้ และนำไปสู่ความวิตกกังวลและความเครียดต่อไปได้ ซึ่งถ้าหากเราไม่รู้วิธีรับมือกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มันอาจส่งผลให้เราแก้ไขปัญหานั้นไม่ถึงปลายทางก็เป็นได้ ระหว่างทางเราจึงควรมีทักษะในการดูแลตัวเองและการจัดการความเครียด เพื่อให้เราได้มีการพักผ่อน ได้เก็บแรง และได้รีชาร์จก่อนจะกลับไปต่อสู้กับปัญหาเหล่านั้นอีกครั้ง
- Control : การควบคุม
การรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ และอะไรเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการแก้ปัญหา เพราะอะไรที่เราควบคุมไม่ได้ เราจำเป็นต้องปล่อยมันไป เพราะมันอยู่เหนือการควบคุมของเรา แต่ในส่วนของสิ่งที่เราควบคุมได้ อย่างเช่น การกระทำและการตัดสินใจของเรา เมื่อเราตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งเหล่านี้แล้ว มันจะช่วยให้เรารู้สึกถึงความสามารถในการควบคุมอนาคตของเรา เราอยากให้มันเป็นไปในทิศทางใด การกระทำและการตัดสินใจของเรานี่แหละที่จะพาเราไปยังทางออกได้
3 วิธีพัฒนาทักษะ Resilience ให้กับตัวเราเอง
1. ปรับมุมมอง เปลี่ยนความคิด
มุมมองและความคิดของตัวเราส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเราแทบจะทุกมิติเลยก็ว่าได้ หากเรามีมุมมองด้านลบและโฟกัสเพียงด้านลบ ๆ ของตัวเราเอง มันจะทำให้เรารู้สึกหมดไฟ เหี่ยวเฉา เศร้าสร้อย และจมอยู่กับความเศร้านั้นจนหาทางออกไม่เจอ แต่ถ้าเรายังมีความหวังอยู่ในใจ มีมุมมองต่ออนาคตที่ดี เช่น เราคิดว่าวันข้างหน้ามันจะต้องดีกว่านี้ หรือคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในทุก ๆ วันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีได้ การปรับมุมมองและความคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้จะช่วยให้เรามีความหวังและไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาได้ง่าย ๆ ดังนั้นแล้ว เชื่อมั่นในตัวเองและมีความหวังไว้อยู่เสมอนะ
2. ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
บางครั้งปัญหาที่เราเผชิญหน้าอาจใหม่มากเกินที่เราคนเดียวจะรับมือไหว การขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างที่เราไว้ใจอาจเป็นทางออกหนึ่งที่เราควรทำ บางทีเรามองปัญหาด้วยเลนส์ของเราคนเดียวมันอาจจะไม่พอ การได้มุมมองของคนอื่นมาเพิ่มอาจช่วยให้เรามองปัญหาในมุมมองที่ต่างออกไป และช่วยเพิ่มทางออกในการแก้ปัญหาของเราได้ด้วย อีกทั้งการพูดคุยและการขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างยังสามารถช่วยเพิ่มความไว้วางใจในความสัมพันธ์ได้อีกด้วย แต่ก่อนจะไปขอความช่วยเหลือจากใครสักคน เราควรสังเกตและถามไถ่ก่อนว่า พวกเขาสะดวกที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เราไหม เพราะเราแต่ละคนต่างก็มีปัญหาชีวิตของตัวเองเหมือนกัน คนรอบข้างของเราบางคนก็อาจจะไม่สะดวกที่จะช่วยเหลือเราในตอนนั้นเช่นกัน
3. จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม
ความเครียดและความวิตกกังวลเกิดขึ้นได้เป็นปกติเมื่อเราเผชิญหน้ากับปัญหา แต่การจมดิ่งอยู่กับความเครียดมันไม่ได้ช่วยอะไรใช่ไหมล่ะ? หาทางจัดการความเครียดกันดีกว่าเนอะ! เราแต่ละคนมีความสามารถในการรับมือกับความเครียดต่างกัน เราจึงมีวิธีการจัดการความเครียดแตกต่างกันตามไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราต้องค้นหาคำตอบด้วยตัวเองอีกที สำหรับบางคน การได้นอนเต็มอิ่มหนึ่งคืนก็สามารถคลายเครียดได้แล้ว บางคนต้องไปหาอะไรทำ ต้องออกแรง ออกกำลังกาย หรือต้องออกไปรับบรรยากาศใหม่ ๆ ต้องไปเที่ยว ต้องไปทำกิจกรรมใหม่ ๆ เป็นต้น
ชีวิตคนเรานี่เหมือนตุ๊กตาล้มลุก ต่อให้มีลมพัดจนล้มราบลงไปบนพื้น เราก็ยังลุกขึ้นมาได้เสมอ หรือมองอีกมุมหนึ่ง ชีวิตคนเราก็เหมือนลูกบอลเช่นกัน ที่ต่อให้เราโดนเตะ ตี ต่อยมากสักเท่าไร เราก็ยังเด้งกลับมาได้เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้เองคือทักษะ Resilience ที่อยู่ภายในตัวเรา ค่อย ๆ แก้ไขปัญหาตามวิธีของตัวเองไป ไม่ต้องรีบร้อน สุดท้ายแล้วเราจะเข้าใจเองว่า เรายังเหลือหรือขาดอะไรอีกบ้าง และมีอะไรที่ต้องปรับปรุงอีกบ้าง ความรู้และประสบการณ์ที่เราได้จากการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนชีวิต และทำให้เราเข้าใจชีวิตของตัวเองได้มากขึ้นในท้ายที่สุด
อ้างอิง
MSEd, K. C. (2023, May 3). How Resilience Helps You Cope With Life's Challenges. Verywell Mind.