ภาวะหมดไฟ หรือ Burnout Syndrome ภาวะที่วัยทำงานส่วนใหญ่มักเป็นกัน เพราะชีวิตการทำงานมันกัดกินพลังงาน ความรู้สึก และช่วงชิงจิตวิญญาณเราได้อย่างง่ายดาย จนทำให้รู้สึกไม่อยากทำอะไรกับชีวิตอีกเลย แต่วัยอื่นก็เป็นได้เหมือนกัน ดังนั้นแล้ว ภาวะหมดไฟจึงเป็นความเสี่ยงที่ไม่ว่าใครก็ควรทำความรู้จักไว้ เพราะมันอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของใครก็ได้
Burnout ภาวะหมดไฟคืออะไร
Burnout Syndrome ภาวะ Burnout หรือที่เราเรียกกันว่า ภาวะหมดไฟ เป็นภาวะที่เกิดจากการเหนื่อยล้าทางด้านร่างกายและจิตใจชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการอยู่ในภาวะที่มีความตึงเครียดเป็นระยะเวลานาน จึงมีความเหนื่อยล้าทางด้านจิตใจ นำมาสู่ความรู้สึกหมดไฟ ไร้เป้าหมาย ไม่มีแรงในการใช้ชีวิตต่อมา ความแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างความเครียดและภาวะหมดไฟก็คือ ความเครียดเป็นการตอบสนองของร่างกายเมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ หากปัญหานั้นหมดไปเราก็จะคลายกังวลและหายเครียดได้ แต่การเครียดในระยะเวลานาน ๆ สามารถส่งผลให้เกิดความวิตกกังวล และอาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟได้ ส่วนภาวะหมดไฟคือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกล้า นึกภาพถ้าเราเจออะไรที่ชวนเหนื่อยมาเป็นระยะเวลานาน ๆ สุดท้ายแล้วมันจะพาไปเราอยู่ในจุดที่ล้าและด้านชา ไม่รู้สึกอะไรอีกเลย ภาวะหมดไฟที่เกิดขึ้นจึงกัดกินพลังงานของและความรู้สึกดี ๆ ของเราไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเราไม่มีอะไรเหลือพลังงานและความรู้สึกดีอยู่ในร่างกายและในใจอีกต่อไปเลย
อาการของคนหมดไฟ
- รู้สึกเหนื่อยล้าทางกายและใจ
- ไม่อยากทำอะไร เริ่มมีการผัดวันประกันพรุ่ง
- มีความคิดด้านลบเกี่ยวกับตัวเองและผู้อื่น
- โฟกัสอะไรไม่ค่อยได้
- หมดแรงกาย แรงใจ ไม่มีอะไรมากระตุ้นให้ตื่นตัวได้
- ร่างกายไม่รู้สึกผ่อนคลาย นอนไม่ค่อยหลับ
- มีปัญหาด้านการกิน กินมากไป หรือไม่หิวเลยก็ได้
- ขี้ลืมมากขึ้น
5 วิธีเติมไฟให้กับภาวะหมดไฟ
1. หาเวลาพักให้ตัวเองบ้าง
บางครั้งการที่เรารู้สึกเหนื่อยล้าไม่อยากทำอะไรแบบนี้ อาจเกิดจากการที่เราไม่ได้มีเวลาพักให้กับตัวเองอย่างเต็มที่ การแบ่งเวลาพักสามารถทำได้ในระหว่างวันหรือหลังเลิกงานก็ได้ เช่น หาเวลาพักช่วงพักเที่ยงอยู่คนเดียว หรือรอเลิกงานแล้วรีบกลับบ้านไปพักผ่อนคนเดียว หรืออาจจะจัดสรรช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือลางานไปพักสักหน่อยก็ได้ เอาที่เรารู้สึกสะดวกและรู้สึกว่าการพักในครั้งนี้จะช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้นบ้าง
2. จัดการกับขอบเขตในชีวิต
เราทุกคนล้วนมีความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบางครั้งสิ่งเหล่านั้นนำมาซึ่งความน่าปวดหัวและความลำบากใจ เช่น โดนรบกวนให้ทำงานให้ โดนขอยืมเงิน โดนขอร้องให้ทำงานล่วงเวลา หลาย ๆ ครั้งที่เราโดนรบกวนมากเกินไปแต่ไม่กล้าปฏิเสธออกไปทำให้เรารู้สึกโดนเอาเปรียบ ไม่พอใจกับตัวเอง และไม่พอใจในความสัมพันธ์ที่เรามีด้วย สิ่งที่เราทำได้คือจัดวางขอบเขต (Boundary) ของตัวเองให้เหมาะสม เช่น ยื่นคำขาดไม่ให้เพื่อนที่ยืมเงินเราบ่อย ๆ มายืมเงินเราอีกต่อไป หรือไม่ตอบไลน์หลังเลิกงาน เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรักษาความสงบสุขในชีวิตของตัวเอง
3. ดูแลตัวเองในทุกมิติ
ชีวิตเราจะดีขึ้นได้ง่าย ๆ ด้วยการดูแลตัวเองตั้งแต่หัวจรดเท้าและทั้งข้างนอกข้างใน เช่น ดูแลเรื่องอาหารการกิน ทานอาหารที่มีประโยชน์ กินโปรตีนในแต่ละวันให้พอ กินผักผลไม้ทุกวัน ออกกำลังกายบ้าง สัก 3 วัน/สัปดาห์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในทุก ๆ วัน กิจกรรมดูแลตัวเองพวกนี้จะช่วยทำให้รู้สึกรักตัวเองขึ้นและถนอมความรู้สึกตัวเองขึ้นได้ อีกทั้งยังทำให้ร่างกายแข็งแรงอีกด้วย ได้ประโยชน์ทีเดียวหลายต่อเลย
4. หาเวลาไปเติมพลังในการทำสิ่งที่ชอบ
บางครั้งชีวิตก็วุ่นวายไปหน่อย ต้องทำงานหนัก ต้องตั้งใจเรียน ต้องเลี้ยงลูก ต้องดูแลคนอื่น จนบางครั้งทำให้เราไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ไม่มีเวลาไปทำสิ่งที่ชอบ ไม่ได้มีเวลาเติมพลังใจเหมือนเมื่อเกิน หากเป็นไปได้ เราอยากให้จัดสรรเวลาให้ได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบบ้าง เช่น เราชอบดูหนัง ให้หาเวลาดูหนังสักสัปดาห์ละครั้งก็ได้ หรือชอบไปเที่ยว ก็หาเวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดสัก 2 ครั้งต่อเดือนก็ได้ หรือกินของหวานมาก ก็ให้ตัวเองได้กินของหวานแสนอร่อยสัปดาห์ละครั้งก็ได้ เพราะการได้ทำสิ่งที่ชอบจะช่วยเติมกำลังใจในการใช้ชีวิตได้ดีทีเดียว
5. ออกไปทำสิ่งใหม่ ๆ เติมความหมายให้กับชีวิต
บางครั้งบางที เราทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ จนรู้สึกเบื่อ ไม่อยากทำมันอีกต่อไปแล้ว และการทำสิ่งเหล่านั้นก็อาจไม่ได้ทำให้เราตื่นเต้นหรือมีความสุขเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่อย่างเพิ่งเศร้าใจไป โลกนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายให้เราได้ลองทำ และมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างให้เราได้เรียนรู้ ศึกษา ค้นหา ทดลอง และทำความเข้าใจ เช่น สมัยเรียนเป็นเด็กสายวิทย์มา จบงานก็ทำงานด้านสายวิทย์ แต่เบื่อแล้ว ก็อาจจะลองหาอะไรด้านศิลปะทำ ไปวาดรูปหรือทำงานศิลปะอื่น ๆ เป็นการลองอะไรใหม่ ๆ ให้กับชีวิต ซึ่งมันอาจจะช่วยให้เราค้นพบและเข้าใจตัวตนของเรามากขึ้นก็เป็นได้
ถึงแม้ว่าภาวะ Burnout จะไม่ได้ถือว่าเป็นความผิดปกติทางจิตก็จริง แต่มันก็เป็นภาวะเสี่ยงที่นำไปสู่อาการป่วยทางกายและใจได้ โดยหากอยู่ในภาวะ Burnout เป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการเยียวยาเลย อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าหรือกลุ่มโรคทางด้านอารมณ์อื่น ๆ ต่อไปได้ ซึ่งจะทำให้การรักษากินเวลานานกว่าที่คิด และสร้างความท้าทายให้กับผู้ป่วยในการเผชิญหน้ากับปัญหาทางสุขภาพจิตในอนาคตได้
อ้างอิง
Stress vs burnout: how to recognize the difference — Calm Blog. (2024, February 8). Calm Blog.
White-Gibson, Z. (2021, September 22). All About Burnout. Psych Central.