เพราะบ้านไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่ “Sense of Belonging” ความรู้สึกยึดโยงที่ทำให้เรารู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับอะไรสักอย่าง

นิยามคำว่า “บ้าน” ของคุณเป็นแบบไหน?

เป็นสถานที่ที่ครอบครัวอันอบอุ่นอยู่ด้วยกัน?

เป็นสตูดิโอหรือออฟฟิศที่คุณได้ทำงานที่รักอย่างเต็มที่?

เป็นความรู้สึกสบายใจที่ได้ใช้ชีวิตกับใครบางคน?

เป็นความรู้สึกที่ได้อยู่ท่ามกลางคนที่เรารักและไว้ใจ?

หรือเป็นความรู้สึกที่มีคนหัวอกเดียวกันเข้าใจเราอย่างแท้จริง?

ไม่ว่าคำว่า “บ้าน” ของคุณจะเป็นสถานที่หรือความรู้สึก แต่ที่แน่ ๆ “บ้าน” ไม่ใช่เพียงสิ่งปลูกสร้างที่มีเพียงห้องสี่เหลี่ยมโล่ง ๆ ที่เต็มไปด้วยความว่างเปล่าอย่างแน่นอน หากแต่อบอวลไปด้วยมวลบรรยากาศอะไรสักอย่างที่ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นใจ เหมือนได้รับการโอบกอดจากความรัก ความเข้าใจ และความเคารพจากผู้คนหรือบรรยากาศที่นุ่มนิ่มและเบาบางเหมือนเบาะที่คอยจะรองรับเราในเวลาที่เราล้มทรุดลงไปเพราะโลกมันออกจะโหดร้ายสำหรับเราไปสักหน่อย และนี่คือความรู้สึกของ “บ้าน” หรือ Sense of Belonging ความรู้สึกยึดโยงและเป็นส่วนหนึ่งกับอะไรสักอย่างที่เราจะมาทำความรู้จักเจ้าความรู้สึกใจฟูนี้ให้มากขึ้นกัน

Sense of Belonging มีที่มาจากทฤษฎีหรือแนวคิดจิตวิทยาวิวัฒนาการ (Evolutionary Psychology) ที่เป็นการผนวกแนวคิดทฤษฎีวิวัฒนาการอันโด่งดังของ Charles Darwin เข้ากับทฤษฎีทางจิตวิทยาโดยมีมุมมองทางด้านพฤติกรม ความคิด ความรู้สึก การเรียนรู้ และสังคมของมนุษย์เข้าไปเสริมกับมุมมองทางด้านชีววิทยา โดยข้อสังเกตที่มีความเกี่ยวข้องกับ Sense of Belonging คือข้อสังเกตที่ว่า มนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนมีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่ามนุษย์ที่อยู่ตัวคนเดียว เพราะการอยู่เป็นกลุ่มก้อนหรืออยู่รวมกันเป็นสังคมใหญ่นั้นทำให้มีการช่วยเหลือกันและกันมากกว่าเดิม ยิ่งอยู่ด้วยกันเยอะก็ยิ่งช่วยเหลือกลุ่มสังคมที่ตัวเองอยู่กัน และตามทฤษฎีวิวัฒนาการ ลักษณะนิสัยใดที่ส่งผลให้คนมีชีวิตรอด ลักษณะนิสัยนั้นก็จะถูกส่งต่อให้คนรุ่นถัดไปในการช่วยให้พวกเขาอยู่รอดได้ต่อไปเช่นกัน ดังนั้น ในทางทฤษฎีแล้ว Sense of Belonging จึงเป็นความรู้สึกที่โหยหาความอยากเป็นส่วนหนึ่งกับอะไรสักอย่าง ซึ่งช่วยให้เรามีชีวิตรอดได้มากขึ้น

ในส่วนของแนวคิดของจิตวิทยาสังคม (Social Psychology) เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีความต้องการในการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่นและสังคม ถึงแม้เราไม่จำเป็นจะต้องอยู่กับคนอื่นตลอดเวลา แต่อย่างน้อยช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต การมีสังคมที่ยอมรับเราอย่างแท้จริง หรือการมีกลุ่มคนที่พร้อมอ้าแขนยอมรับทุกความผิดพลาดของเราอย่างไม่มีข้อแม้นั้นเป็นสิ่งที่เราทุกคนโหยหาอย่างปฏิเสธไม่ได้ และความรู้สึกที่โหยหาการถูกยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี่แหละคือ Sense of Belonging ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลต่อความรู้สึกของตัวเราโดยตรง สังคมที่เราอยู่จะสะท้อนสิ่งที่เราเป็น เราจะได้เห็นตัวเองผ่านสังคมที่เราอยู่ และเห็นโลกมากขึ้นผ่านสังคมที่เราอยู่ หากเราไม่ได้รับการยอมรับหรือสังคมที่เราอยู่ไม่เกื้อหนุนกัน ลึก ๆ แล้วสิ่งนี้ได้ซ่อนอยู่ในตัวตนของเราอย่างแยบยล อาจมาในรูปแบบของความคิดลบ ๆ พฤติกรรมที่ไม่ดี หรือขาดทักษะในการเข้าสังคมที่เหมาะสมก็เป็นได้ ประสบการณ์ของการมี Sense of Belonging จึงส่งผลต่อสุขภาพจิตของเราได้โดยตรง และสะสมอยู่ในความคิดและพฤติกรรมของเราได้นานชั่วชีวิตเลยทีเดียว อีกทั้งส่งผลต่อสุขภาพกายของเราได้อีกด้วย ในแง่ของพฤติกรรม เราอาจติดพฤติกรรมไม่ดีมาจากคนที่เป็นเสมือนเซฟโซนของเรา เช่น ดูแลตัวเองไม่ดี เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้สำคัญอะไรนัก และนั่นอาจทำให้มีปัญหาทั้งในด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ในระยะยาว

สังคมรอบข้างส่งผลต่อเราได้อยู่เสมอ และ Sense of Belonging ก็ส่งผลต่อตัวตนของเราอย่างหลีกเลี่ยงไมไ่ด้ แต่การจะหา
สถานที่ ผู้คน หรือกลุ่มคนสักกลุ่มที่เรารู้สึกสบายใจที่ได้ใช้เวลาด้วยจริง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก ถึงแม้ว่าตอนนี้อาจจะยังไม่เจอแต่เชื่อเถอะว่า มันต้องมีสักแห่งและสักคนบนโลกใบนี้ที่จะยอมรับเราและเป็นเหมือน “บ้าน” ที่พร้อมโอบกอดเราอย่างไม่มีข้อจำกัดด้วยความรักที่ไม่มีวันสิ้นสุด

อ้างอิง

MSEd, K. C. (2023, April 6). How to Increase Your Sense of Belonging. Verywell Mind.