เวลาดูละครไทย ตัวละครหลักที่เราจำได้จะมีพระเอก นางเอก และนางร้าย (หรือตัวอิจฉา) ตามสูตรละครไทยที่เราดูกันมา คือคู่พระเอกนางเอกจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคจากหลายสิ่งหลายอย่าง รวมถึงเอาตัวรอดจากทางนางร้าย ซึ่งวิธีการทำร้ายนางเอกของนางร้ายนี่มีหลากหลายรูปแบบมาก หนึ่งในนั้นที่เราคุ้นเคยคือ”การนินทา” หรือการปล่อยข่าวแย่ ๆ ของนางเอกออกไปให้เสียชื่อเสียงและเสียภาพลักษณ์ แต่สุดท้ายแล้ว อะไรที่ไม่เป็นความจริงก็จะหายไป จนเหลือเพียงความจริงปรากฏอยู่ บทสรุปสุดท้ายคือพระเอกนางเอกใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข จบอย่างสวยงาม แต่คนที่ต้องรับเคราะห์หรือชดใช้กรรมต่อไปก็คือนางร้ายที่ทำพฤติกรรมไม่ดีมาตลอดทั้งเรื่องนั่นเอง
การเกริ่นถึงละครไทยในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวแต่อย่างใด คุณเคยได้ยินประโยคที่ว่า “Art imitates Life” หรือ ศิลปะเลียนแบบชีวิตมนุษย์ กันไหม? ตัวอย่างในละครไทยคงไม่ได้ไปไกลจากสังคมไทยเท่าไหร่ อย่างเรื่องการซุบซิบนินทาที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น ไม่ว่าใครก็ต้องเคยแอบนินทาคนอื่นสักนิดใช่ไหมล่ะ? หรือไม่แน่ ถึงคุณอาจจะไม่ได้ชอบนินทาหรือไม่ได้ไปทำร้ายใครมาก่อน แต่คุณอาจจะเคยเป็น “อีนั่น/หมอนั่น” ของใครสักคนมาก่อนโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ และแน่นอนว่า วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่อง “การซุบซิบนินทา (Gossip)” ในมุมมองทางจิตวิทยากัน
ว่าด้วยเรื่อง Gossip การซุบซิบนินทา
การนินทาเป็นพฤติกรรมมนุษย์ชนิดหนึ่งที่มีผู้เกี่ยวข้อง 3 คนขึ้นไป นั่นก็คือมีผู้พูด ผู้ฟัง และบุคคลที่สามที่เป็นโจทย์ในการนินทา ซึ่งพฤติกรรมนี้เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามปกติได้ในหลายกลุ่มสังคม ตั้งแต่วงเมาท์ของป้าข้างบ้าน แก๊งค์คุณน้าร้านอาหารตามสั่งหน้าปากซอย ในกลุ่มเพื่อนกันเอง หรือกลุ่มเพื่อนร่วมงานที่สนิทกัน หรืออาจจะเป็นคนสนิทกันบนโลกออนไลน์ก็ได้ เรียกได้ว่าการซุบซิบนินทาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แทบจะทุกกลุ่มสังคมของมนุษย์เลยทีเดียว
นอกจากนี้ การซุบซิบนินทายังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัยอีกด้วย ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นวัยคุณป้าเท่านั้นที่จะต้องชอบเมาท์ แต่คนเราสามารถนินทากันได้ตั้งแต่วัยเด็กยันวัยชราเลยทีเดียว อีกทั้งความเชื่อที่ว่า ผู้ชายไม่ชอบนินทา เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความเป็นจริงอย่างมากเลยทีเดียว เพราะจริง ๆ แล้ว เรื่องเพศไม่ได้มีผลต่อการชอบซุบซิบนินทาแม้แต่นิดเดียว ซึ่งแปลว่า ผู้ชายก็ชอบนินทาคนอื่น ไม่ต่างจากเพศอื่น ๆ
ภาพจำที่ไม่ดีและเรื่องด้านลบของ Gossip การซุบซิบนินทา
ภาพจำทั่วไปที่คนมักนึกถึงเกี่ยวกับการซุบซิบนินทา แน่นอนว่า คนส่วนใหญ่มีมุมมองด้านลบต่อพฤติกรรมนี้ เพราะมองว่าการนินทาเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี และการนินทาไม่สร้างประโยชน์ให้กับผู้พูดและผู้ฟังเท่าไรนัก ซึ่งต้องยอมรับเลยว่า การซุบซิบนินทาเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีอย่างแท้จริง หากมีการใส่ร้ายหรือใส่สีตีไข่ข้อมูลไม่ดีเพิ่มเติมลงไป เช่น A และ B กำลังนินทา C โดยที่ A ใส่ร้าย C ว่าเป็นคนชอบโกหก ด้วยเหตุผลที่ว่า A ไม่ชอบ C แต่ต่อให้เรื่องที่เล่าสู่กันฟังในวงนินทาเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่มีความเป็นกลางทางข้อมูลก็ตาม คนก็ยังมองว่าการซุบซิบนินทายังถือเป็นสิ่งที่ไม่ดีอยู่ดี เนื่องจากเป็นการเอาเรื่องของคนอื่นมาพูดโดยที่เจ้าตัวที่ถูกพูดถึงไม่รู้ตัวเลยสักนิด นอกจากนี้ การนินทายังถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ก่อประโยชน์ต่อผู้พูดและผู้ฟัง การซุบซิบนินทาจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีโดยปริยาย
ในทางจิตวิทยาแล้ว การซุบซิบนินทาไม่ได้ถูกนิยามว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี นักจิตวิทยามองเพียงว่ามันเป็นพฤติกรรมรูปแบบหนึ่งของมนุษย์เท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้การซุบซิบนินทาถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ต่อเมื่อมันสร้างผลกระทบให้กับบุคคลที่สามหรือบุคคลที่ถูกนินทา หากพวกเขาถูกใส่ความหรือได้รับผลกระทบด้านลบที่ส่งผลไม่ดีต่อภาพลักษณ์หรือชื่อเสียง นั่นถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อตัวตนของพวกเขาและสร้างบาดแลผให้กับพวกเขาในอนาคตได้นั่นเอง
นอกจากนี้ การซุบซิบนินทาเรื่องของคนอื่นยังถูกว่าเป็นการสะท้อนตัวตนของผู้พูดออกไปว่าผู้พูดเป็นคนที่มี Low Self-Esteem หรือการมองเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ เพราะว่าการซุบซิบนินทาถือเป็นพฤติกรรมที่พูดถึงเรื่องราวของคนอื่น ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่ดีหรือส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของคนอื่น การที่เรานินทาเรื่องที่ไม่ดีของผู้อื่นถูกมองว่าเป็น Projection ตัวตนของเรารูปแบบหนึ่ง โดย Projection เป็นกลไกป้องกันตัวเองทางจิตวิทยา (Defense Mechanism) รูปแบบหนึ่ง ที่เราโยนตัวตนด้านที่เราไม่มั่นใจหรือด้านที่เราไม่ชอบออกไปให้สังคมรับรู้หรือโยนไปใส่ในตัวคนอื่น เช่น A นินทา C ว่าเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจเลย ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว A ก็เป็นคนไม่มั่นใจเหมือนกัน แต่การนินทา C ช่วยกลบความไม่มั่นใจในตัว A ไปได้ ดังนั้นแล้ว การนินทาถูกมองว่าเป็น Projection เพราะว่าการพูดถึงเรื่องคนอื่นเชิงไม่ดีเป็นการกดคนอื่นให้ต่ำลงหรือแย่ลง เพื่อให้เรารู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นนั่นเอง
เรื่องด้านดีของการ Gossip การซุบซิบนินทา
ถึงแม้ว่าการซุบซิบนินทาจะฟังดูเหมือนว่าเป็นพฤติกรรมที่เป็นเรื่องแย่ตามภาพจำโดยธรรมชาติของมันแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วนักจิตวิทยามองการนินทาว่าเป็นพฤติกรรมที่มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน อย่างแรกคือการซุบซิบนินทาถือเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลประเภทหนึ่ง ซึ่งพอรวบรวมข้อมูลมาได้มากพอแล้ว เราจะสามารถใช้ข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น การตัดสินใจ การให้ความช่วยเหลือ หรือมากไปกว่านั้น เพื่อการอยู่รอดของตัวเราเอง ลองนึกภาพหนังหรือละครย้อนยุคสมัยก่อน ตัวละครที่อยู่ในจุดที่มีอำนาจมาก อย่างเช่น ราชินี หรือบทภรรยาของผู้มีอำนาจ พวกเธอมักเก็บข้อมูลจากสิ่งที่เหล่าไพร่และคนรับใช้ซุบซิบนินทากัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้แหละ เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีในการเล่นเกม หรืออย่างในยุคปัจจุบัน แหล่งข้อมูลชั้นดีคือกลุ่มป้าแม่บ้านที่ออฟฟิศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับเราหรืออาจจะไม่มีผลอะไรกับเราก็ได้ ฟังไว้เอาสนุกก็ไม่เสียหายอะไร
นอกจากการซุบซิบนินทาจะเป็นการเก็บข้อมูลประเภทหนึ่งแล้ว มันยังมีหน้าที่ที่ใหญ่กว่านั้น นั่นก็คือเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวคนในกลุ่มหรือสังคมให้สนิทกันมากขึ้น โดยมองว่าการซุบซิบนินทาก็คือปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์รูปแบบหนึ่งนี่แหละ อีกอย่างเวลาเราเลือกที่จะนินทากับใคร นั่นแปลว่าเราต้องเชื่อใจเขาได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว นั่นแปลว่า การซุบซิบนินทานี่แหละเป็นเครื่องวัดความน่าเชื่อถือและความไว้ใจระหว่างกันได้ดีเลยทีเดียว
ดังนั้นแล้ว การซุบซิบนินทามีมิติที่น่าสนใจกว่าเป็นเพียงการพูดคุยทั่ว ๆ ไป ข้อเสียของการซุบซิบนินทาที่เราอยากให้ระวังไว้ นั่นก็คือให้คุณมีวิจารณญาณในการรับข้อมูล ไม่ฟังความข้างเดียว ไม่ด่วนตัดสินใจใครไปก่อน และไม่เผยแผร่เฟคนิวส์หรือข่าวปลอมออกไป เพราะมันอาจส่งผลกระทบของคน ๆ หนึ่งไปทั้งชีวิตได้เลยทีเดียว ดูตัวอย่างได้จากแพะรับบาปหรือคนที่โดนทัวร์ลงหลาย ๆ คนได้เลย คนเคยโดนด่าไปแล้ว จะกู้ความมั่นใจหรือความรู้สึกมันทำได้ยาก นินทาได้ เพราะมันเป็นเรื่องปกติ แต่อย่าไปทำลายชีวิตใครเลย
อ้างอิง
Is Psychological Projection Disguising Your Low Self-Esteem? | HealthyPlace. (2018, May 24).
Why Do We Gossip? (n.d.). Frontiers for Young Minds.
เผยความเชื่อผิด ๆ ว่าด้วยพฤติกรรมซุบซิบนินทาของขาเมาท์. (2019, May 20). BBC News ไทย.