นี่เราเก่งจริง ๆ ใช่ไหมนะ?
อันนี้คือผลงานของเราจริง ๆ เหรอ?
เราสมควรได้รับโอกาสดี ๆ แบบนี้จริง ๆ เหรอ?
มีอะไรดี ๆ เกิดขึ้นเกินกว่าที่คาดไว้ทีไร รู้สึกสงสัยในตัวเองตลอดเลย เป็นเพราะอะไรกันนะ? วันนี้เราจะชวนมาทำความรู้จักกับ Self-Doubt ความสงสัยในตัวเอง ที่สามารถส่งผลดีและส่งผลเสียให้กับตัวเราได้ทั้งสองทาง
Self-Doubt หรือ ความสงสัยในตัวเอง เป็นความรู้สึกไม่มั่นใจเกี่ยวกับความจริงของตัวเรา หรือความจริงที่เกิดขึ้น ทั้งในด้านความคิด ความรู้สึก ความเชื่อ ความคิดเห็น การตัดสินใจ ไปจนถึงมุมมองที่เรามีต่อตัวเอง ผู้อื่น และสิ่งอื่น ๆ โดยมีสาเหตุเกิดมาจากความไม่มั่นใจในตัวเอง ความรู้สึกกลัวถูกตัดสินว่าไม่ดีจากคนอื่น (เลยชิงสงสัยและตัดสินตัวเองก่อนคนอื่น) การโดนเปรียบเทียบกับคนอื่น รวมถึงประสบการณ์ไม่ดีในอดีตด้วย หรือแม้แต่การโดนตั้งคำถามในประเด็นที่เปราะบางต่อจิตใจ หรือประเด็นที่มีความเกี่ยวพันกับตัวตนของเรา อย่างเช่น ความคิดเห็น ความเชื่อ การตัดสินใจ เราจะลองยกตัวอย่างเป็นเหตุการณ์โดนป้าข้างบ้านถามว่าทำไมไม่เรียนหมอ อะไรประมาณก็สามารถทำให้เกิด Self-Doubt ได้เช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองมีความเกี่ยวข้องกับการมองเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ (Low Self-Esteem) ของเราทั้งทางตรงและทางอ้อมเลยด้วย
ความสงสัยในต้วเองเกิดขึ้นได้ง่ายมากและเกิดขึ้นได้ในแทบทุกสถานการณ์ เช่น มีนัดสัมภาษณ์งานและได้งานมา เราก็เกิดความกังขาในความสามารถของต้วเองว่าเราควรได้รับโอกาสนี้จริง ๆ หรือไม่? หรือการได้รับความรักอย่างเต็มที่มาจากคนที่รักเรา อย่างครอบครัว คนรัก และเพื่อน มันเป็นสิ่งที่ดีก็จริง แต่เราก็ดันมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า คนอย่างเราสมควรได้รับความรักแบบนี้จริง ๆ เหรอ? และอีกสารพัดสารพันเหตุการณ์ที่ชวนให้เราสงสัยในตัวเอง
จริง ๆ การสงสัยในตัวเองบ้างก็ช่วยให้เราได้หมั่นตรวจเช็กตัวเองเหมือนกัน มีการคิดทบทวนถึงข้อดีและข้อเสียที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษกับตัวเรา ช่วยให้เรามองตัวเองตามความเป็นจริงมากขึ้น แต่หากเราสงสัยมากเกินไปจนไปสร้างความพะว้าพะวงในการใช้ชีวิตเมื่อไร นั่นจะนำไปสู่ความไม่มั่นใจในตัวเองและความกลัวไม่กล้าใช้ชีวิตที่ส่งผลต่อตัวเราได้มากกว่าที่คิด
3 วิธีช่วยลด Self-Doubt
1. หาข้อดี-จุดแข็งของตัวเอง | Seek Your Strengths
เพื่อให้เรายอมรับตัวเองโดยไม่มีข้อกังขา เริ่มจากการมองหาข้อดีหรือจุดแข็งของเราที่เรามองว่าเราทำได้ดีที่สุดในชีวิตแล้ว เช่น เราอาจจะวางแผนเก่ง คุมโปรเจกต์เป็น หรือขายเก่ง พรีเซนต์เก่ง หรือปิดงานได้ด้วยตัวคนเดียว รับผิดชอบทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว หรือจะเป็นเรื่องง่าย ๆ อย่างเช่นปลอบใจคนอื่นเก่ง เป็นคนช่างสังเกตก็ได้เช่นกัน อะไรก็ได้เลยที่คุณคิดว่าทำได้ดี และจำเอาไว้ให้ขึ้นใจว่าเรามีดีตรงนี้นะ ส่วนอย่างอื่นค่อย ๆ ไปพัฒนากันต่อได้
2. ชมตัวเองบ้าง | Give Yourself an Affirmation
นอกจากจะหาข้อดีและจุดแข็งของตัวเองได้แล้ว ลองให้กำลังใจตัวเองเวลาเราทำสิ่งที่ไม่ถนัด เช่น ต้องพรีเซนต์งานทั้ง ๆ ที่พูดไม่เก่ง หรือจำเป็นต้องมารับผิดชอบครอบครัวทั้ง ๆ ที่ตัวเองยังมีรายได้ไม่มากนัก ถึงแม้ว่าเราจะมองว่าตัวเองยังไม่เก่งในการใช้สกิลหรือทักษะนั้นได้มากพอ แต่คนเราต้องเรียนรู้และพัฒนากันอยู่เรื่อย ๆ ใช่ไหม? กว่าจะถึงจุดที่เราขัดเกลาสกิลนั้นได้แหลมคม ระหว่างนี้ให้เราใจเย็น ๆ กับตัวเอง ให้เวลากับตัวเองในการฝึกฝน และให้กำลังใจตัวเองอย่างเป็นประจำ
3. โอบรับความเป็นตัวเองให้มากขึ้น | Embrace Your Flaws Unconditionally
เพราะคนเราไม่ได้มีดีไปซะหมด แต่เราก็ไม่ได้แย่ไปซะหมดเช่นกัน เราต่างมีทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดีอยู่ในตนเอง เพื่อให้มองตัวเองตามความเป็นจริงและเป็นกลางมากที่สุด เราจำเป็นต้องโอบรับนิสัยไม่ดีของตัวเองไปพร้อม ๆ กับสิ่งดี ๆ ในตัวเรา อย่างเช่น เราเป็นคนที่เสียใจแล้วจะไม่พูด ยอมรับข้อเสียการไม่พูดการไม่ชี้แจงของเราไว้ และตระหนักไว้ว่ามันเป็นนิสัยของเรา มันเป็นตัวตนของเรานะ แต่ว่ามันจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งพอนึกได้แล้ว หลังจากนี้ก็ค่อย ๆ ปรับปรุงสิ่งนิสัยไม่ดีของเราไป สิ่งที่สำคัญคือเราต้องยอมรับถึงการมีอยู่ของนิสัยไม่ดีก่อน การยอมรับจะพาเราแก้ไขและพัฒนาตัวเองได้ตรงจุดมากขึ้น
Self-Doubt ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัวขนาดนั้น สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญคือ การมี Self-Doubt ที่ไม่ทำร้ายตัวตนและส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเรามากเกินไปนั่นเอง
อ้างอิง
Self-Doubt: Definition, Causes, & How to Overcome It. (n.d.). The Berkeley Well-Being Institute.