เราน่าจะเคยเห็นบทบาทหน้าที่ของนักจิตวิทยาในสถานที่คุ้นหูคุ้นตาอย่างโรงพยาบาล คลินิก ขยับสถานที่มาหน่อยก็เป็นโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือจะเป็นการทำงานแบบสายด่วนฮอตไลน์ที่เราจะไม่ได้เจอนักจิตวิทยาตัวเป็น ๆ หรือจะเป็นการเข้ารับบริการโดยตรงกับนักจิตวิทยาก็ตาม โดยหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นการให้บริการรับคำปรึกษา แบบที่เป็นการพูดคุยตัวต่อตัวกับนักจิตวิทยาที่เราเคยเห็นผ่านตามาในสื่อบันเทิงหลายแขนงอย่างหนังและซีรีส์ ซึ่งภาพจำเหล่านี้น่าจะเป็นภาพที่หลาย ๆ คนนึกถึงเมื่อพูดถึง “นักจิตวิทยา”
แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วนักจิตวิทยาไม่ได้มีหน้าที่ในการให้บริการคำปรึกษาเพียงรูปแบบเดียว และนักจิตวิทยาก็ทำงานในหลาย ๆ ที่ได้มากก่วานั้นด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็น “ออฟฟิศของคุณ” ก็เป็นได้!?
ชวนมารู้จักกับจิตวิทยาอีกแขนงหนึ่งที่สังกัดอยู่ในองค์กรต่าง ๆ อย่าง “นักจิตวิทยาองค์กร” หรือที่เรียกกันอย่างเต็มยศได้ว่า “นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ” ที่ไม่ได้มีหน้าที่อย่างนักจิตวิทยาทั่วไป และแฝงตัวอยู่ในบทบาทของทางฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือ HR กันเสียส่วนใหญ่
I/O Psychologist นักจิตวิทยาองค์กร คืออะไร?
นักจิตวิทยาองค์กร มีชื่อเต็มในภาษาอังกฤษว่า Industrialization and Organizational Psychologist ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาที่ทำงานด้านจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ โดยจิตวิทยาอุตสากรรมและองค์การนี้ถือว่าเป็นจิตวิทยาประยุตก์แขนงหนึ่งที่นำมุมมองและหลักการทางด้านจิตวิทยาที่ให้ความสำคัญในการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์และกระบวนการคิดของมนุษย์มาศึกษาและพัฒนาบริบทของการทำงานภายในองค์กรเป็นหลัก โดยมีหน้าที่หลัก ๆ ในการดูว่าพฤติกรรมของคนส่งผลต่อการทำงานอย่างไร และสังเกตว่าการทำงานส่งผลต่อคนคนหนึ่งและภาพรวมของทั้งองค์กรอย่างไรบ้าง ร่วมถึงหาแนวทางในการพัฒนาทักษะของบุคลากรอีกด้วย
จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การยังแยกย่อยลงไปได้อีก 5 แขนงใหญ่ (แต่โดยทั่วไปแล้วมักนิยมให้ความสำคัญกับ 2 แขนงแรกมากกว่า) ซึ่งประกอบไปด้วย
- Industrial Psychology
หรือ จิตวิทยาอุตสาหกรรม เป็นส่วนที่มีความเกี่ยวข้องไปในทิศทางเดียวกับ Human Resource หรือด้านทรัพยากรบุคคล ทั้งในเรื่องของการคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงานให้เหมาะสมกับ Job Description การประเมินการทำงานของพนักงาน การจัดกิจกรรมหรือเวิร์กชอปที่เหมาะสมกับให้กับพนักงาน เช่น ปาร์ตี้ประจำเดือน กิจกรรม Outing ประจำปี การจัดหาแนวทางในการเพิ่มทักษะที่พนักงานต้องการ เช่น การพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม และอื่น ๆ ที่เป็นบทบาทหน้าที่ที่ HR ต้องรับผิดชอบ
หากมองเพียงผิวเผินแล้ว ทั้ง Industrial Psychology และ Human Resource ก็ไม่ได้มีความแตกต่างชัดเจนในแง่ของบทบาทหน้าที่ แต่ Industrial Psychology ถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่ใช้กระบวนการด้านจิตวิทยาประยุกต์เข้ากับการทำงานของ HR โดยให้ความสำคัญไปที่ “ความสัมพันธ์ของคนและงาน” เป็นหลัก ความเหมาะสมของคนกับงาน การพัฒนาคนไปพร้อม ๆ กับพัฒนางาน เพื่อให้บุคลากรทำงานอย่างมีความสุขและสามารถทำงานได้เต็มความสามารถที่สุด
- Organizational Psychology
หรือ จิตวิทยาองค์การ ซึ่งมีความคาบเกี่ยวกับ Industrial Psychology บ้าง ในแง่ของการให้ความสำคัญกับคนทำงาน โดยจิตวิทยาองค์กรให้ความสำคัญเกี่ยวกับความพึงพอใจในการทำงาน แรงจูงใจในการทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรด้วยกันเอง ไปจนถึงความรุนแรงหรือการคุกคามที่เกิดขึ้นระหว่างพนักงาน เรียกได้ว่า จิตวิทยาองค์การเป็นแนวทางที่ให้ความสำคัญต่อภาพรวมของพนักงานว่าส่งผลต่อการทำงานต่อทีมและองค์กรได้อย่างไรบ้าง เพื่อดึงศักยภาพของพนักงานออกมา และเพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมให้กับองค์กรนั่นเอง
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่าง Industrial Psychology และ Organizational Psychology คือในส่วนของ Industrial Psychology นั้นมีความเป็นรูปธรรมเพราะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนและงาน แต่ Organizational Psychology ที่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคนและคนและองค์กร วัฒนธรรมองค์กร รวมถึงเรื่องการบริหารคนภายในองค์กรให้ทำงานให้ทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- Human-Factor Psychology
หรือที่เรียกกันในอีกหลาย ๆ ชื่อว่าเป็น Ergonomics บ้าง Engineering Psychology บ้าง หรือแปลไทยได้อีกชื่อว่า การยศาสตร์ ที่แปลไทยอีกทีได้ว่า ศาสตร์แห่งการทำงาน ซึ่งเป็นจิตวิทยาแขนงหนึ่งที่ให้ความสำคัญระหว่างคนกับสิ่งของที่พวกเขาใช้ในการทำงาน โดยมุ่งเน้นไปที่การศึกษา วิจัย สำรวจ สังเกต สร้าง และแก้ไขอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้มนุษย์เหนื่อยล้าน้อยลงและลดอาการบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้บุคลากรทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพที่สุดนั่นเอง
หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นหูกับคำว่า Ergonomics Chair กันมาบ้าง ซึ่งเก้าอี้แบบนี้ก็ได้ผ่านกระบวนการของ Human-Factor Psychology ว่าช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน ๆ ได้ รวมถึงหลักการอย่างเรื่ององศาการวางมือ แขน หรือโต๊ะ ว่าต้องวางองศาไหนที่จะลดอาการบาดเจ็บทางร่างกายได้น้อยที่สุดนั่นเอง
- Occupational Health Psychology
จิตวิทยาอาชีวอนามัย (ไม่ใช่คำแปลอย่างเป็นทางการ) เป็นจิตวิทยาแขนงหนึ่งที่ให้ความสำคัญทางด้านองค์รวมของชีวิตการทำงานในคนคนหนึ่ง โดยเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตในการทำงาน หากมีความเครียดหรือโรคทางจิตเวชเกิดขึ้นจากการทำงาน หน้าที่ในการดูแลบุคลากรคนดังกล่าวจะใช้องค์ความรู้ในส่วนนี้มาช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยไปด้วยกัน เพื่อให้เขามีความปลอดภัยทางด้านร่างกาย จิตใจ ทำงานได้อย่างมีความสุข และสามารถจัดการชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
ลักษณะงานแบบนี้ยังไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมในไทยนัก ส่วนใหญ่นักจิตวิทยาที่ทำหน้าที่ในส่วนนี้มักจะเป็นที่ปรึกษา (Consultant) หรือเปิดบริการดูแลบุคลากรให้กับองค์กรต่าง ๆ มากกว่าที่จะนั่งประจำการอยู่ที่ออฟฟิศ
- Humanitarian Work Psychology
ตราบใดที่โลกยังคงมีปัญหานับร้อยให้แก้ไข คนนับล้านยังจำต้องได้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านั้นอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นชนกลุ่มน้อย ผู้ลี้ภัย ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เหตุการณ์ก่อการร้าย หรือประสบการณ์แย่ ๆ อื่น และผู้คนเหล่านี้ยังมีบาดแผลทางใจจากเหตุการณ์เลวร้ายแบบนี้ การดูแลเยียวยาพวกเขาให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นเป็นหน้าที่ของ นักจิตวิทยามนุษยธรรม (ไม่ใช่คำแปลอย่างเป็นทางการ) เพื่อให้การเข้าถึงความช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นสำหรับพวกเขานั่นเอง
ซึ่งนักจิตวิทยาแขนงนี้มักทำงานอยู่ตามองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGOs) องค์กรที่ให้การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่าง ๆ หรือหน่วยงานรัฐที่ดูแลกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะ นั่นเอง
บทบาทหน้าที่ของ I/O Psychologist นักจิตวิทยาองค์กร
นักจิตวิทยาองค์กรมีบทบาทหน้าที่คาบเกี่ยวกับนักทรัพยากรบุคคลอยู่ไม่น้อย จนทำให้ถูกเรียกรวมว่าเป็น HR มากกว่า โดยหน้าที่หลัก ๆ มีดังนี้
- คัดเลือกบุคลากรที่เหมาะสมเข้าทำงาน
- ทำแบบสำรวจเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของพนักงาน เช่น ความพึงพอใจของพนักงาน
- ดูแลภาพรวมความเป็นอยู่ของพนักงาน
- ประเมินผลงานของพนักงานตามความเหมาะสม
- หาแนวทางในการพัฒนาทักษะการทำงานของพนักงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- ให้ความรู้แก่พนักงานในด้านที่เล็งเห็นว่ามีความจำเป็น เช่น การจัดการความเครียด การดูแลสุขภาพจิตตนเองเบื้องต้น การจัดเวลาชีวิตให้มีคุณภาพ เป็นต้น
- จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานด้วยกันเองและองค์กร เช่น ทริป Outing ร้องคาราโอเกะประจำสัปดาห์ เป็นต้น
- ร่วมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงานให้พนักงาน
- นำเสนอปัญหาหรือประเด็นปัญหาด้านสุขภาพจิตของพนักงานให้กับองค์กร
ในไทยมี นักจิตวิทยาองค์กร ไหม?
เนื่องด้วยบทบาทหน้าที่ของนักจิตวิทยาองค์กรมีความคาบเกี่ยวกับ HR อยู่มาก ดังนั้น คนที่เรียนจบจากจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การสายตรงมักไปทำงานด้านทรัพยากรบุคคลกันมากกว่าที่จะไปทำงานสายตรง ไม่แน่ HR ที่ออฟฟิศของคุณอาจจบจิตวิทยาสายตรงมาก็ได้! หากแต่ในออฟฟิศยังไม่มีตำแหน่งนักจิตวิทยาองค์กรโดยเฉพาะรองรับนั่นเอง แต่ถ้าหากในอนาคตมีการชูประเด็นเรื่องสุขภาพจิตภายในองค์กรให้เป็นวาระสำคัญที่ทุกองค์กรต้องให้ความสนใจมากขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าจะมีตำแหน่งงานของนักจิตวิทยาองค์กรที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ในส่วนของนักจิตวิทยาองค์กรรูปแบบอื่น ๆ อย่างเช่น ด้าน Human-Factor Psychology จะอยู่ในส่วนของสายอาชีพด้านการออกแบบหรือวิศวกรรมมากกว่า ด้าน Occupational Health Psychology มีทั้งที่เป็นที่ปรึกษาของแต่ละองค์กร หรือองค์กรผู้ให้บริการด้านจิตวิทยาภายนอกก็มีเช่นกัน และในส่วนของ Humanitarian Work Psychology จะทำงานอยู่ในองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGOs) หรือหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เรียกได้ว่านักจิตวิทยาองค์กรต่างแฝงตัวอยู่ทั้งในองค์กรเอกชนและหน่วยงานรัฐเลยทีเดียว
อ้างอิง
MSEd, K. C. (2023, November 2). What Do Industrial-Organizational Psychologists Do? Verywell Mind.