Pet Therapy ความรักจากสัตว์เลี้ยงที่คอยเยียวยาใจในวันที่โลกหันหลังให้กับคุณ

ยิ่งอายุมากขึ้น ความโดดเดี่ยวยิ่งเข้ามาทักทายเราบ่อยขึ้น เพราะคนใกล้ตัวและเพื่อน ๆ ต่างก็ทยอยหายกันไปตามกาลเวลา ความไว้ใจที่เคยมีมาต่อกันอาจค่อย ๆ ลดน้อยลงไปจนกลายเป็นคนไม่รู้จักกัน สุดท้ายแล้ว คนที่จะใช้เวลาอยู่กับเรามากที่สุดคงไม่พ้นครอบครัวที่เรามีหรือครอบครัวที่เราสร้างมากับมือ แต่นอกเหนือจากครอบครัวที่เป็นคนเหมือนกับเราแล้ว หลาย ๆ คนก็น่าจะมีครอบครัวที่ไม่ใช่คนแต่เป็นสัตว์เลี้ยงอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพวกสัตว์ขนฟู 4 ขาอย่างสุนัข แมว กระต่าย หมู เม่น กระรอก หรือสัตว์ที่เลี้ยงไว้ดูเล่นอย่างปลา นกสวยงาม ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงเอ็กโซติกอย่างงู เต่า กิ้งก่า หากเจ้าของเลี้ยงด้วยความใส่ใจและให้ความรักอย่างเต็มที่ละก็ พวกเขาจะเป็นครอบครัวและเซฟโซนที่ดีต่อใจอย่างดีในอนาคตเลยทีเดียว

นอกเหนือจากการเลี้ยงสัตว์เพื่อคลายความเหงาและเพื่อสร้างมิตรภาพใหม่ ๆ แล้ว สัตว์เลี้ยงยังถูกใช้ในการสร้างประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับมนุษย์ เช่น ในอดีตเราเลี้ยงสุนัขเพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ป่า รวมถึงใช้ในทางการปศุสัตว์อย่างเช่นสุนัขไล่แกะ ในปัจจุบันก็มีการนำสุนัขมาใช้ในการช่วยดมกลิ่นเพื่อลดความเสี่ยงจากวัตถุต้องสงสัยต่าง ๆ อีกด้วย และที่ขาดไม่ได้ มีการใช้สัตว์บำบัด หรือ Pet Therapy ในการดูแลคนไข้ที่มีอาการป่วยทางใจอีกด้วย! ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึง Pet Therapy ให้ได้รู้จักมากขึ้นกัน

Pet Therapy คืออะไร?

Pet Therapy หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่ออื่น ๆ ว่า สัตว์เลี้ยงบำบัด หรือการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยง เป็นวิธีการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่ใช้สัตว์มาเป็นตัวกลางในการช่วยรักษาผู้ป่วย โดยมีทั้งผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องทางจิตเวชที่มีปัญหาทางด้านสมองและจิตใจ การเคลื่อนไหวของร่างกาย ไปจนถึงโรคทั่วไปอย่างโรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีความเครียดเรื้อรัง รู้สึกโดดเดี่ยว หรือมีบาดแผลทางด้านจิตใจอีกด้วย ซึ่งสัตว์แต่ละชนิดที่จะนำมาใช้ในการบำบัดจะมีความแตกต่างกันไปที่อาการป่วยและความต้องการของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยโรควิตกกังวลมีความสบายใจมากขึ้นเมื่อได้อยู่กับสุนัข จึงมีการใช้สุนัขในการบำบัด หรือผู้ป่วยมีปัญหาด้านสมาธิ แต่สามารถจดจ่อได้มากขึ้นเมื่ออยู่กับนก ก็จะมีการเลือกใช้นกในการบำบัด เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบของการบำบัดที่คล้ายกันอย่าง Animal-Assisted Therapy หรือสัตว์บำบัด ซึ่งจะมีความแตกต่างกับ Pet Therapy ตรงที่สัตว์บำบัดจะใช้สำหรับการบำบัดโดยทั่วไป นั่นหมายความว่า สัตว์บำบัดจะเป็นเรื่องของการให้บริการบำบัด ต่างกับ Pet Therapy ตรงที่ผู้ป่วยจะมีสัตว์เลี้ยงเป็นของตัวเองไปเลย อย่างกรณีที่มีการใช้ม้าในการบำบัดช่วยเหลือผู้ป่วยในการเคลื่อนไหวร่างกายจะถือว่าเป็นสัตว์บำบัด ในขณะที่ผู้ป่วยอีกคนมีสุนัขคอยติดตามและให้การช่วยเหลืออยู่ไม่ห่าง แบบนี้จะถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงบำบัด

ข้อดีของการใช้สัตว์เลี้ยงในการบำบัด

  • รับมือกับอาการป่วยได้ดีขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นโรคทางจิตเวช หรือโรคที่มีปัญหาทางด้านร่างกาย หรืออาการเรื้อรังต่าง ๆ การมีสัตว์เลี้ยงบำบัดที่ผ่านการฝึกฝนในการช่วยดูแลผู้ป่วยมาแล้วจะช่วยให้เราจัดการและรับมือกับอาการป่วยได้ดีขึ้น เช่น สุนัขที่ผ่านการฝึกในการดูแลผู้ป่วยโรควิตกกังวล ด้วยความที่ผ่านการฝึกสังเกตบวกกับประสาทสัมผัสที่ไวมาก น้องจะเข้าไปคลุกคลีและเตือนผู้ป่วยด้วยการให้ผู้ป่วยนั่งลงกับพื้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้นั่งพักหรือทานยาก่อนที่จะมีอาการแย่ลง เป็นต้น 

  • ได้รับความสบายใจ

สัตว์เลี้ยงที่ใช้ใน Pet Therapy มักเป็นสัตว์ที่เข้ากับมนุษย์ได้ง่าย พอได้เลี้ยงและเข้ากันได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็เหมือนกับว่าเรามีสัตว์เลี้ยงที่เข้าใจเรา เป็นเซฟโซนสร้างความสบายใจให้กับเราได้ รวมถึงเมื่อเกิดความสบายใจแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้ผูกพันมากขึ้น ฮอร์โมนแห่งความสุขและความผูกพันอย่างอ็อกซิโทซิน (Oxytocin) หลั่งเพิ่มมากขึ้นด้วย

  • รู้สึกเหงาน้อยลง

ไม่ใช่แค่มนุษย์ที่รู้สึกเหงา เหล่าสัตว์เลี้ยงก็เหงาเป็นเหมือนกัน แต่เจ้าพวกนี้มักมีการแสดงออกและสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ถ้ารู้สึกเหงาก็จะเดินมาสะกิด เดินมาใกล้ ๆ เจ้าของ ทำการเรียกร้องความสนใจ ซึ่งทำให้เจ้าของรู้สึกเป็นที่ต้องการ ได้รับความรัก และทำให้รู้สึกเหงาได้น้อยลงเพราะมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนเล่นอีกด้วย

  • มีความรับผิดชอบมากขึ้น

สัตว์เลี้ยงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตลอดเวลา ในฐานะผู้เลี้ยง เราจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบในการดูแลชีวิตพวกเขาด้วย ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เรามีความรับผิดชอบกับชีวิตของเรามากขึ้น รวมถึงจัดสรรสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตให้เป็นระเบียบมากขึ้น เพื่อให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น และมีเวลาดูแลสัตว์เลี้ยงมากขึ้นด้วย ส่งผลดีต่อทั้งตัวผู้เลี้ยงเองและตัวสัตว์เลี้ยงอีกด้วย

  • รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น

เพราะการมีสัตว์เลี้ยงคือการที่เรามีความรับผิดชอบต่อสิ่ง ๆ หนึ่งมากขึ้น ตามมาด้วยความใส่ใจและความผูกพัน ซึ่งถ้าหากเราสามารถทำให้สัตว์เลี้ยงเรามีความสุขได้ เราในฐานะผู้เลี้ยงก็จะมีความสุขตามไปด้วย กลายเป็นว่าได้รับความสุขทั้งสองทาง

Pet Therapy ในไทย

สำหรับ Pet Therapy หรือ สัตว์เลี้ยงบำบัด ยังไม่ได้ถูกใช้ในการรักษาหรือการบำบัดอย่างแพร่หลายขนาดนั้น แต่ปัจจุบันเริ่มมีการใช้สัตว์บำบัด (Animal-Assisted Therapy) และมีการฝึกสัตว์มากขึ้นเพื่อให้บริการทางการแพทย์และการบำบัดสำหรับผู้ป่วยในอนาคตแล้ว เช่น ทีมสุนัขบำบัดสำหรับสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ผ่อนคลายมากขึ้น ลดความตึงเครียดที่เกิดจากโรค เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการพาสุนัขไปเยี่ยมผู้ป่วยตามระยะเวลาที่เหมาะสม มากกว่าที่จะให้ผู้ป่วยรับเลี้ยงน้องอย่างถาวรนั่นเอง

ในแง่ของ Pet Therapy หรือ สัตว์เลี้ยงบำบัด ยังไม่มีให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนนัก แต่ก็เริ่มมีการฝึกสุนัขสำหรับให้การช่วยเหลือและให้บริการสำหรับผู้ป่วยทางใจและผู้สูงอายุมากขึ้น เพียงแต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก นอกจากนี้ จากการสังเกตโดยทั่วไปในสังคมแล้ว มีผู้ป่วยทางใจหลายรายที่รู้สึกอยากใช้ชีวิตให้นานขึ้นเพื่อใช้เวลากับสัตว์เลี้ยงให้มากขึ้นเช่นกัน เพราะสัตว์เลี้ยงของพวกเขาได้ทำให้การมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น ได้ค้นพบกับความหมายของชีวิตมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการรักษาผู้ป่วยและผู้สูงอายุในอนาคตได้อีกด้วย

อ้างอิง

How Pets Affect Mental Health. (2021, March 30). WebMD.

Mph, A. O. P. (2023, August 24). What Is the Purpose of Animal Therapy? Verywell Health.