Social Loafing จิตวิทยาว่าด้วย “การอู้งาน”

เมื่อพูดถึงการทำงานเป็นกลุ่มหรือเป็นทีม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ วัยเรียนหรือวัยทำงาน เราเชื่อเลยว่า ทุกคนน่าจะต้องเคยเจอหรือเคยทำงานกับคนประเภทหนึ่ง ซึ่งนั่นก็คือกลุ่มคนอู้งาน นอกจากเหตุผลว่าเห็นแก่ตัว ไม่อยากทำงาน ไม่อยากใส่ใจงานแล้ว มันมีเหตุผลอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมเหล่านี้ไหมนะ? และแน่นอนว่า จิตวิทยามีคำตอบให้กับเรื่องนี้ พร้อมมีชื่อเรียกพฤติกรรมนี้โดยเฉพาะอีกด้วย ซึ่งก็คือ Social Loafing 

Social Loafing หรือการอู้งาน เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นเมื่อผู้คนออกแรงในการทำงานน้อยลง โดยการอู้งานมักเกิดขึ้นเมื่อแต่ละคนมีหน้าที่และความรับผิดชอบไม่ชัดเจน มี Job Description คลุมเครือ และเกิดขึ้นเมื่อมีการประเมินผลงานแบบอิงกลุ่ม ไม่ได้มีการประเมินรายคน การศึกษาการอู้นี้มีที่มาจาก Max Ringelmann วิศวกรด้านการเกษตรชาวฝรั่งเศส ผู้ได้ทำการทดลองในปี ค.ศ. 1913 โดยการให้คนกลุ่มหนึ่งมาดึงเชือก Max สังเกตเห็นว่า ตอนที่คนแต่ละคนต้องดึงเชือกด้วยตัวเอง กับตอนที่ต้องดึงเชือกเป็นกลุ่มนั้น แต่ละคนออกแรงไม่เท่ากัน โดยคนจะออกแรงน้อยกว่าเมื่อต้องดึงเชือกด้วยกันเป็นกลุ่ม จากการทดลองนี้เอง ทำให้การอู้งานมีชื่อเรียกว่า Ringelmann Effect ในระยะแรก ๆ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น Social Loafing ในเวลาต่อมา  

แล้วทำไมคนเราถึงอู้งานกัน?

สังคมเราประกอบไปด้วยผู้คนมาจากร้อยพ่อพันแม่ แต่ละคนก็มีสาเหตุที่ทำให้อยากอู้งานแตกต่างกันออกไป แต่วันนี้เราจะหยิบยกเหตุผลจากรายงานการอู้งานมา 7 ข้อ ดังนี้

1. ไม่มีขอบเขตกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจน

ยิ่ง Job Description คลุมเครือมากเท่าใด ยิ่งทำให้ผู้คนไม่รู้ว่าควรต้องทำงานอะไรบ้าง ยกตัวอย่างการทำงานกลุ่มที่ไม่มีการแบ่งงานกันชัดเจน มีเพียงบอกว่าต้องทำงานด้วยกัน ก็จะทำให้งานออกมาไม่ดีหรือไม่สำเร็จ แต่ถ้ามีการกำหนดหน้าที่ไว้ชัดเจนตั้งแต่แรกว่า คนนี้ทำสืบค้น คนนี้ช่วยตรวจข้อมูล คนนี้ทำรายงาน คนนี้ทำกราฟิก เป็นการแบ่งงานอย่างชัดเจนไปเลย จะทำให้แต่ละคนรู้หน้าที่ของตัวเอง และโฟกัสไปที่หน้าที่ของตัวเองได้ง่ายขึ้น

2. ไม่มีการกระจายความรับผิดชอบ

ขึ้นชื่อว่าเป็นทีมและเป็นกลุ่ม การทำงานจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราคนเดียว แต่เป็นการกระจายหน้าที่ความรับผิดชอบไปยังคนอื่นด้วย ซึ่งตรงนี้ทำให้เราคิดไปเองว่า ส่วนนี้คงมีคนทำไปแล้ว หรือส่วนนี้คงไม่ได้อยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของเรา เป็นการคิดไปเองว่าเราไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบในงานนี้คนเดียว ซึ่งการไม่กระจายความรับผิดชอบก็เกิดจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงควรสื่อสารกันภายในทีมเพื่ออัปเดตความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอ

3. คนในทีมมีจำนวนมากเกินไป

ภายในทีมมีคนเยอะ นั่นแปลว่ายิ่งมีคนทำงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องทำงานให้เต็มที่ เพราะเรายังมีคนอื่น ๆ ในทีมที่ต้องรับผิดชอบงานทั้งหมดร่วมกัน แต่นั่นอาจทำให้คนอื่นต้องทำงานเพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่เราสามารถเฉลี่ยงานให้รับผิดชอบในระดับที่เท่า ๆ กันก็ได้

4. ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน

เคยสงสัยว่าเราทำงานกันไปเพื่ออะไรกันไหม? บางคนอาจมีเป้าหมายในการทำงานเพื่อรับประสบการณ์ในการทำงาน เพื่อให้ได้เงินเดือนไปใช้ชีวิต หรือเพื่อทำประโยชน์ให้กับองค์กร แต่บางคนอาจไม่มีเป้าหมายในการทำงาน พอคนเราไม่มีเป้าหมายก็จะรู้สึกว่าไม่อยากทำอะไร ทำให้เกิดการอู้งานและมีประสิทธิภาพในการทำงานไม่ดีนัก

5. มุมมองต่อคนในทีม

หากเรารู้สึกว่าคนในทีมจะไม่มีใครทำงาน บางคนจะรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องทำงานนี้ เพราะคนในทีมไม่สนใจที่จะทำงานเหมือนกัน เรียกว่าพากันอู้ พากันลงเหวทั้งทีม แต่ในขณะเดียวกัน หากภายในทีมของเรามีคนที่เก่งมาก ๆ เราจะรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่พึ่งพาได้ และเขาคงทำงานได้เก่งกว่าเรา จึงทำให้เกิดการอู้งานและมีการโยนงานให้คนที่เก่งกว่ารับผิดชอบไปเลย ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ภายในทีมอีกด้วย

6. ไม่มีการประเมินรายบุคคล

การทำงานเป็นกลุ่มที่ไม่มีการประเมินเลยจะทำให้คนในทีมรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องทำงานหนักเพราะไม่ได้มีคนจับตามองพฤติกรรมของเราอยู่ จึงทำให้เกิดการอู้งานขึ้นมา แต่ถ้าหากมีการประเมินรายบุคคลขึ้นมาเมื่อไหร่ จะทำให้คนตื่นตัวมากขึ้น และกลัวว่าถ้าไม่ทำงานจะส่งผลเสียต่อตัวเอง เป็นการช่วยกระตุ้นให้คนอู้มีความรับผิดชอบมากขึ้นได้

7. เป็นที่นิสัยส่วนตัว

นอกเหนือจาก 6 เหตุผลที่พูดถึงมาด้านบนแล้ว หากไม่มีเหตุผลใดใช้อธิบายพฤติกรรมการอู้งานได้ละก็ มันอาจเป็นเพราะการอู้งานนี้เป็นนิสัยส่วนตัวก็ได้ เป็นคนไม่ชอบทำงาน ไม่ชอบลงแรง ชอบหาประโยชน์จากคนอื่น เป็นต้น

คนชอบทำงานมีอยู่จริง ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่ชอบทำงานก็มีอยู่จริง แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้เราควรอู้งาน เพราะมันจะสร้างผลเสียให้กับตัวเรามากกว่าผลดี ทำให้เพื่อนร่วมทีมมองเราไม่ดี การทำงานไม่ราบรื่น หากเริ่มรู้สึกว่าไม่อยากทำงาน เราอยากให้ลองสำรวจอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองให้ดี แต่มันอาจเกิดมาจากภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) หรืออาการป่วยทางจิตเวชอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้าก็ได้ ฉะนั้น อย่าเพิกเฉยอาการทางใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ดี และอย่าอู้งานนะ!

 อ้างอิง

Martins, J. (2023, May 29). Social Loafing Isn’t What You Think It Is [2023] • Asana. Asana.

การอู้งาน (Social Loafing). (n.d.). Retrieved November 23, 2023