เคยสงสัยไหมว่า สารสื่อประสาทในสมองหรือฮอร์โมนในร่างกายของเราทำงานกันอย่างไร และมันส่งผลต่อร่างกายและสภาพจิตใจของเราได้อย่างไรบ้าง? วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับหนึ่งในสารสื่อประสาทและฮอร์โมนตัวหนึ่งที่ทุกคนอาจจะเคยได้ยินชื่อบ่อย ๆ อย่าง เซโรโทนิน (Serotonin) กันให้มากขึ้น!
เซโรโทนิน Serotonin คืออะไร?
เซโรโทนิน (Serotonin) เป็นทั้งสารสื่อประสาทและฮอร์โมนประเภทหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของเรา ซึ่งเจ้าเซโรโทนินนี้พบได้มากได้ในลำไส้ของเรา! (ใช่ คุณได้ยินไม่ผิด มันทำงานส่งผลต่อสภาพอารมณ์เราแต่พบมากในลำไส้ ไม่ใช่สมอง) เซโรโทนินสามารถช่วยให้อาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวล รวมถึงอาการที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ทั้งหลายนั้นดีขึ้นได้ นอกจากนี้ เซโรโทนินยังส่งผลต่ออารมณ์ทางเพศและความต้องการทางเพศของเราด้วย หากพบว่าตัวเองมีความต้องการทางเพศต่ำ อาจเป็นเพราะมีเซโรโทนินในร่างกายน้อยก็เป็นได้
นอกจากนี้ เซโรโทนินยังส่งผลต่อการนอนหลับของเราได้อีกด้วย โดยในขณะที่เมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทอีกชนิดที่ทำหน้าที่ให้เราง่วงนอน ซึ่งสมองของเราต้องใช้เซโรโทนินในการสร้างเมลาโทนิน ดังนั้น ถ้าเรามีเซโรโทนินในปริมาณน้อยก็อาจส่งผลให้การนอนหลับของเรามีปัญหาตามมาได้ นั่นเป็นสาเหตุทำไมว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าที่มีเซโรโทนินไม่สมดุลนั้นจะรู้สึกง่วงนอน นอกจากนี้ เซโรโทนินที่ไม่สมดุลยังส่งผลให้เกิดโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) ได้เช่นกัน
และด้วยความที่เซโรโทนินพบได้มากในลำไส้ แน่นอนว่ามันมีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับเรื่องลำไส้ด้วย โดยเมื่อเรากินอาหารลงไป เซโรโทนินจะทำให้เรารู้สึกอยากอาหารน้อยลง ทำให้เรารู้ว่าเราควรหยุดกินเมื่ออิ่มแล้ว นอกจากนี้ มันยังช่วยปกป้องลำไส้ของเราด้วยนะ ในกรณีที่เราทานอาหารที่เป็นพิษต่อร่างกายลงไป เซโรโทนินจะช่วยทำให้เราไม่อยากกินอาหารนั้นต่อไป และช่วยทำหน้าที่ในการขับสิ่งที่เป็นพิษออกมาจากร่างกาย
วิธีรักษาระดับ Serotonin เซโรโทนิน ในร่างกาย
- กินอาหารที่มีประโยชน์
โดยปกติแล้วเซโรโทนินพบได้มากในพืชกว่า 42 ชนิด แต่เส้นเลือดไม่สามารถลำเลียงเซโรโทนินไปยังสมองได้โดยตรง จึงมีการแนะนำให้ทานอาหารที่มีส่วนช่วยทำให้เรามีอารมณ์ที่ดี ซึ่งประกอบไปด้วย โปรตีนจากสัตว์ เช่น แซลมอน ปลา ไก่ ไก่งวง ไข่ เป็นต้น ชีส สับปะรด เต้าหู้ และถั่วประเภทต่าง ๆ นอกจากนี้ ด้วยความที่เซโรโทนินพบมากในลำไส้ จึงแนะนำให้ทานอาหารที่มีโพรไบโอติกที่ดีต่อลำไส้ เช่น โยเกิร์ต คอมบูชา (ชาหมัก) กิมจิ เป็นต้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายเราแข็งแรงขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้เรามีสุขภาพจิตที่แข็งแรงขึ้นด้วย โดยขณะออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเซโรโทนิน ทำให้เรารู้สึกมีความสุขเมื่อเหงื่อออกนั่นเอง
- สัมผัสแดดจากธรรมชาติ
แสงแดดจากธรรมชาติเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีสำหรับการหลั่งเซโรโทนิน แต่ด้วยความรุนแรงของแดดเมืองไทย เราแนะนำให้คุณใช้เวลาสัมผัสกับแสงแดดในตอนรุ่งเช้าช่วงพระอาทิตย์พึ่งขึ้นมาจากขอบฟ้า จะได้ไม่ร้อนมากนัก โดยทำไปพร้อมกับการยืดเส้นยืดสายพร้อมใช้ชีวิตในเช้าวันใหม่อย่างสดใสจะช่วยทำให้คุณรู้สึกตื่นตัวได้ดีเลยทีเดียว
- จัดการความคิด จัดการความเครียด
เพราะความเครียด โดยเฉพาะความเครียดที่เกิดขึ้นเรื้อรังนั้นเป็นตัวบล็อกการหลั่งเซโรโทนินชั้นดีเลยทีเดียว ดังนั้น เราจึงควรหมั่นจัดการความเครียดอยู่เป็นประจำ ด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การพักไปทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น พักผ่อน อ่านหนังสือ ดูหนังฟังเพลง ใช้เวลากับธรรมชาติ หรือกิจกรรมฝึกสติ (Mindfulness) อย่างเช่นการนั่งสมาธิ การฝึกหายใจ การเล่นโยคะ เป็นต้น
เพราะสุขภาพกายสัมพันธ์กับสุขภาพใจโดยตรง การมีอยู่ของเซโรโทนินส่งผลต่อทั้งร่างกายเราได้มากกว่าที่คิดเลยทีเดียว ถ้าร่างกายแฮปปี้ ใจของเราก็แฮปปี้ไปด้วย รักษาสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ดีนะ
อ้างอิง
Mph, E. B. (2022, September 28). How to Increase Serotonin: 6 Natural Remedies. Verywell Health.