ในช่วงเวลาที่เด็กแต่ละคนเติบโตมา คุณเคยสงสัยไหมว่า เด็กแต่ละคนได้รับอิทธิพลมาจากอะไรกัน ทำไมถึงได้โตมากลายเป็นคนนิสัยแบบนี้ บ้างก็ให้เหตุผลว่าที่เป็นแบบนี้เพราะที่บ้านเป็นแบบนี้กันหมด เหมือนนิสัยส่งต่อมาผ่านทางพันธุกรรม แต่บ้างก็ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะการเลี้ยงดูมากกว่า ซึ่งการให้เหตุผลทั้งสองฝ่ายนี้ ต่างเป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychologist) ถกเถียงกันมาตลอดด้วย! ไปหาคำตอบกันว่านักจิตวิทยาคิดกับเรื่องนี้อย่างไรกัน
ย้อนไปในสมัยก่อนในช่วงที่เริ่มมีนักคิดอย่าง Plato และ Decartes พวกเขามองว่า เราทุกคนต่างเป็นผลพวงของธรรมชาติ นั่นก็คือตัวตนของเราได้รับอิทธิพลมาจากพันธุกรรมจากบรรพบุรุษของเรา เช่นเดียวกับแนวคิดทางด้านสายวิวัฒนาการที่มองว่า คนเราต่างมีชีวิตรอดมาจนถึงทุกวันนี้เกิดจากพันธุกรรมของผู้ที่แข็งแกร่งได้รับการสืบทอด นั่นแปลว่า นักคิดสายนี้มองว่าเราทุกคนในทุกวันนี้เป็นผลลัพธ์มาจากพันธุกรรมที่แข็งแรงของบรรพบุรุษเรานั่นเอง ซึ่งพันธุกรรมนี้ไม่ได้หมายถึงเพียงลักษณะทางกาย แต่ยังรวมไปถึงลักษณะนิสัยและทักษะการเอาชีวิตรอดต่าง ๆ อีกด้วย
ถ้าบ้านเราเคยมีวลีเกี่ยวกับเด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็ก ๆ ว่า ”เด็กก็เหมือนกับผ้าขาว” ที่สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีความเชื่อว่าเด็กแต่ละคนนั้นเริ่มต้นมาจากศูนย์เหมือนกันหมด โดยไม่มีอิทธิพลทางด้านพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การสอนและการเลี้ยงดูพวกเขาจะเป็นการเติมสีสันให้กับผ้าขาวเหล่านั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้น ในฝั่งตะวันตกก็มีแนวคิดนี้คล้าย ๆ กัน โดยเรียกว่า “Tabula Rasa” จากนักคิดนามว่า John Locke ที่มองว่า จิตใจของเราแต่ละคนนั้นมีสภาวะว่างเปล่ามาตั้งแต่แรกเริ่ม และการแต่งแต้มจิตใจนั้นจะเกิดจากการสั่งสอนและการเลี้ยงดูในภายหลังนั่นเอง
สุดท้ายแล้ว ข้อถกเถียงของเรื่องนี้ไปจบลงที่ตรงไหน? ปรากฏว่าสุดท้ายแล้ว ทั้งสองปัจจัยอย่างพันธุกรรมและการเลี้ยงดูต่างส่งผลต่อลักษณะนิสัยของคนๆ หนึ่งร่วมกัน ถึงแม้ว่าบางคนจะมีการเลี้ยงดูที่ดี แต่ถ้าเขาไม่ยอมรับความหวังดีนั้นเองก็อาจเกิดจากลักษณะนิสัยส่วนตัวที่ไม่เปิดรับ ในขณะเดียวกัน หากเกิดมาเป็นคนที่ไม่ขยัน แต่ถ้าหากฝึกฝนเรื่อย ๆ และอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ผลักดันให้ขยันก็สามารถเปลี่ยนแปลงให้คนคนหนึ่งกลายเป็นคนขยันได้เช่นกัน
อ้างอิง
MSEd, K. C. (2022, October 19). The Nature vs. Nurture Debate. Verywell Mind.