AI (Artificial Intelligence) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อไทยว่า ปัญญาประดิษฐ์ ได้เข้ามาเขย่าวงการทุกวงการในโลก ทุกวันนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ใคร ๆ ก็หันมาใช้ AI ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น OpenAI, ChatGPT, Bing AI, DALL-E, Midjourney หรือฟีเจอร์ของโปรแกรมและแอปพลิเคชันต่าง ๆ อย่างใน Canva ซึ่ง AI พวกนี้ช่วยให้การทำงานของเรารวดเร็วและสะดวกมากยิ่งขึ้น แถมยังประหยัดเวลา ประหยัดพลังงาน และทำให้ผลิตงานได้มากขึ้นอีกด้วย
AI มีข้อดีก็จริง แต่มันก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน ยิ่งในปัจจุบัน ที่มีการใช้ AI เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตเป็นเท่าตัว ทำให้ผู้คนเริ่มมองเห็นการมีอยู่ของ AI อย่างเด่นชัดมากขึ้น และมีการใช้งาน AI ในบริบทที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น บางคนพร้อมเปิดใจให้ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน แต่บางคนก็มองเห็น AI เป็นเครื่องมือคุกคามชีวิตมนุษย์ อย่างในวงการศิลปะและภาพยนตร์ที่ยังไม่มีกฎระเบียบในการใช้ AI อย่างแน่ชัด ศิลปินหลาย ๆ คนมองว่า AI ขโมยงานศิลปินคนอื่นเพื่อสร้างผลงานใหม่ โดยศิลปินที่โดนขโมยผลงานกลับไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่กลายเป็นเจ้าของผู้ผลิต AI ต่างหากที่สร้างเม็ดเงินจากการทำงานของ AI นั้นไป แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย
ในวงการฮอลลีวูดก็มีปัญหากับการใช้ AI เช่นกัน หากใครตามข่าววงการหนังฮอลลีวูดอยู่บ้างคงจะเห็นข่าวคราวการประท้วงจากกลุ่ม SAG-AFTRA ซึ่งเป็นกลุ่มสหพันธ์แรงงานของคนในวงการบันเทิงที่ออกมาประท้วงทวงคืนค่าแรงที่เป็นธรรม และต่อต้านการใช้ AI ในวงการฮอลลีวูด เพราะถ้าหาก AI ถูกใช้ในวงการฮอลลีวูดขึ้นมาจริง ๆ นักแสดงตัวเล็กตัวน้อยจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากทางฮอลลีวูดจะมีการจ่ายค่าตัวนักแสดงเพียง 1 ครั้งเพื่อใช้ในการสแกนใบหน้าและร่างกาย หลังจากนั้นจะนำสิ่งที่สแกนได้ไปใช้ต่อในหนังและโฆษณา ซึ่งมันสามารถใช้ซ้ำได้นับครั้งไม่ถ้วน แต่นักแสดงได้รับค่าแรงเพียงครั้งเดียว ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมอีกเช่นกัน
นอกเหนือจากวงการที่เราได้พูดถึงไปแล้ว วงการนักจิตวิทยาหรือนักบำบัดก็ได้รับความท้าทายจากการมีอยู่ของ AI เช่นกัน โดยเฉพาะ AI Chatbot ที่สามารถโต้ตอบบทสนทนาได้ ซึ่งก็มีคนได้ลองใช้ AI Chatbot ในฐานะเป็นนักจิตวิทยาหรือนักบำบัดขึ้นมาจริง ๆ !! โดยผู้ใช้ Reddit รายหนึ่งได้ออกมาบอกว่า
“ChatGPT ดีกว่านักบำบัดของเขาเสียอีก”
ผู้ใช้ Reddit คนนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่เขาไม่คิดจะใช้ ChatGPT แทนการบำบัดของเขาจริง ๆ เพียงแต่ว่า ChatGPT สามารถตอบข้อสงสัยของเขาได้ทุกประการ จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าเขาถูกรับฟังอย่างแท้จริง ต่างกับนักบำบัดของเขาที่อาจตอบข้อสงสัยเขาได้ไม่ครบทุกประการนั่นเอง
แล้ว AI Chatbot ยังถือว่าเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงในวงการจิตวิทยาไหม?
เรียกได้ว่ามีบางประเด็นที่น่าเป็นห่วงอยู่ แต่ไม่ถึงกับว่าเราต่อต้าน AI ไปเลย เพราะมีนักจิตวิทยาหลาย ๆ คนมองเห็นช่องทางในการปรับใช้ AI และ AI Chatbot ในการวางแผนการรักษาและบำบัดโรคทางใจ จากบทความของ TIME (2023) ได้กล่าวถึงการใช้ AI ในแอปพลิเคชันเกี่ยวกับสุขภาพจิต ซึ่งทางแอปฯ มีการใช้ AI ในการเก็บข้อมูลและประเมินอาการผู้ใช้งาน เช่น ใช้เป็น Mood Tracker ใช้ในการให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองให้กับผู้ใช้งาน ใช้ในการประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ นอกจากนี้ ในวงการแพทย์ยังมีการใช้ AI ในการช่วยเลือกยาต้านเศร้าที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยอีกด้วย
ในส่วนของประเด็นที่น่าเป็นห่วงและยังเป็นความท้าทายในการพัฒนา AI นั่นก็คือด้านความหลากหลายของข้อมูล ถ้าหากจะให้ AI ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาจริง ๆ อาจมีปัญหาเรื่องการตอบรับต่อความหลากหลายของผู้คน ประเด็นอ่อนไหวของแต่ละบุคคลที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และประเด็นด้านสุขภาพจิตเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวและมีความละเอียดอ่อนสูงมาก จึงทำให้การสร้างชุดคำตอบหรือคำแนะนำที่ครอบคลุมในทุกเคสจึงเป็นไปได้ยากและต้องใช้เวลา
และอีกสิ่งหนึ่งที่ AI หรือ AI Chatbot อาจมาทำแทนได้ยาก นั่นก็คือในส่วนของการทำหน้าที่ปรึกษาและการบำบัด เพราะหน้าที่เหล่านี้เป็นของบุคลากรที่เป็นมนุษย์โดยตรง ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างนักจิตหรือนักบำบัดและผู้ป่วยถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้ การจะมาแทนที่ความสัมพันธ์รูปแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับ AI
ทั้งนี้ทั้งนั้น ความเจ็บป่วยทางใจของแต่ละคนเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก วิธีบำบัดวิธีหนึ่งอาจไม่เวิร์กกับคนบางคน แต่อาจเวิร์กกับคนบางกลุ่มแทน ดังนั้น ทั้งวงการการปรึกษาและการบำบัดเองก็ต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้รองรับความต้องการของผู้ป่วยทุกคนได้ เช่นเดียวกับการพัฒนา AI และ AI Chatbot สำหรับใช้ในทางจิตวิทยา จำเป็นต้องมีการพัฒนาและวิจัยในอีกระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้มันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่แน่ในอนาคต AI และ AI Chatbot นี่แหละจะมาเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงความช่วยเหลือทางสุขภาพจิตได้มากขึ้น ซึ่งเราต้องรอดูกันต่อไป
To be continued…
อ้างอิง
Ducharme, J. (2023, October 4). Can AI Chatbots Ever Replace Human Therapists? TIME.