ในชีวิตการทำงาน เราต่างมีทั้งวันทำงานที่สดใส มีความสุข และสนุกกับการทำงาน แต่ในบางวัน เราก็มีวันที่เศร้า ไม่พอใจ กดดัน เครียด และรู้สึกไม่อยากทำอะไรผสมปนเปกันไป ในฐาะองค์กรที่ดูแลความพึงพอใจในการทำงานของพนักงาน สิ่งที่องค์กรควรทำมากที่สุดคือการส่งเสริมสุขภาวะจิตที่ดีให้แก่พนักงาน ซึ่งทำได้หลายวิธีเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือการจัดกิจกรรมด้านจิตวิทยาและสุขภาพจิตให้แก่พนักงาน
เนื้อหาที่สำคัญ
- Psychology Workshop คือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาและการดูแลสุขภาพจิต ซึ่งมีเป้าหมายในการทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้ความเข้าใจจิตวิทยาในด้านต่าง ๆ
- หากพนักงานมีสุขภาวะจิตที่ดีจะช่วยลดอัตราการลาออกได้
- Psychology Workshop สามารถออกแบบแนวทางกิจกรรมได้หลายรูปแบบ ซึ่งมีทั้งกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพจิตของพนักงานเอง ไปจนถึงความสัมพันธ์และการทำงานภายในทีม
Psychology Workshop คืออะไร?
Psychology Workshop คือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาและการดูแลสุขภาพจิต ซึ่งมีเป้าหมายในการทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้ความเข้าใจจิตวิทยาในด้านต่าง ๆ เช่น การทำงาน การสื่อสาร การเข้าใจตัวเองและผู้อื่น เป็นต้น และความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพจิต เช่น การดูแลร่างกายทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ วิธีการดูแลสุขภาพใจ การฝึกสติ เป็นต้น รวมไปถึงสามารถมีการต่อยอดจากความรู้จิตวิทยาและสุขภาพจิตที่ได้ไปปรับใช้ในการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การบริหารทีม การจัดการเวลา เป็นต้น เพื่อให้พนักงานมีสุขภาพใจที่ดี มีความรู้ในการจัดการสุขภาพใจของตัวเองและทีม และเป็นการส่งเสริมบรรยากาศในการทำงานให้มีความเข้าใจต่อจิตวิทยาและสุขภาพจิตมากขึ้น ทำให้การพูดคุยเรื่องทางด้านจิตใจเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้น อันจะนำไปสู่แนวโน้มในการเกิดความเครียดน้อยลง พนักงานมีความพึงพอใจในการทำงานมากขึ้น พนักงานมีความสุข องค์กรก็ได้รับผลบวกตามไปด้วย
ทำไมถึงควรมี Psychology Workshop ในองค์กร?
- ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางด้านจิตวิทยาและสุขภาพจิตให้กับพนักงาน
- พนักงานมีเครื่องมือในการดูแลตนเองและผู้อื่น
- ทำให้การพูดคุยเรื่องจิตวิทยาและสุขภาพจิตเป็นเรื่องปกติในที่ทำงาน
- ส่งเสริมบรรยากาศในการทำงาน
- พนักงานเล็งเห็นว่าองค์กรใส่ใจความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างจริงจัง
- อัตราการลาออกลดลง
- ส่งผลบวกต่อภาพลักษณ์องค์กร
ลิสต์ 10 กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตในองค์กร
1. การจัดการความเครียด (Stress Management)
สิ่งที่มักหลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตการทำงานก็คือความเครียด ทั้งความเครียดที่มาจากคน ความเครียดจากตัวเนื้องานเอง ความเครียดจากลูกค้า หรือความเครียดจากปัจจัยรอบนอกที่ส่งผลกระทบต่องานได้ ความเครียดมีทั้งในส่วนที่อยู่ในการควบคุมดูแลของเรา และในส่วนที่เราควบคุมมันไม่ได้ การได้เรียนรู้วิธีการจัดการความเครียดทั้งสองแบบอย่างเหมาะสม จะช่วยให้พนักงานดูแลความเครียดที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ รวมถึงมีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานที่เหมาะสมและไม่ตึงเครียดมากเกิน ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งพนักงานและองค์กรอีกด้วย
2. การจัดการเวลา (Time Management)
ในแต่ละวัน เวลาในการทำงานมีอยู่อย่างจำกัด การจะจัดการเวลาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย ในบางช่วงพนักงานของเราต้องรับมือกับการจัดโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่ล้นมือจนพวกเขาไม่ได้มีเวลาดูแลตัวเองมากนัก จนส่งผลให้มีปัญหาด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจตามมา กิจกรรมการจัดการเวลาจึงเหมาะกับทั้งพนักงานและองค์กรที่จะช่วยจัดสรรให้รู้จักการใช้เวลาอย่างคุ้มค่าแต่ไม่ทำร้ายสุขภาพกายและสุขภาพใจมากเกินไป
3. ความยืดหยุ่นทางใจ (Resilience)
ความยืดหยุ่นทางใจ (Resilience) หมายถึงความสามารถหรือกระบวนการในการปรับตัวต่อสถานการณ์ยากลำบากที่เกิดขึ้น เพราะชีวิตของเราเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และบางครั้งอาจมีเรื่องที่คาดเดาไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงกะทันหันนั้นได้ และเพื่อให้พนักงานของเรามีเครื่องมือในการปรับตัวต่อความยากลำบากในชีวิต กิจกรรมเกี่ยวกับ Resilience จะสามารถช่วยพนักงานให้มีภูมิคุ้มกันต่อปัญหาในชีวิต ปรับตัวกับมันได้ และแก้ไขมันไปได้โดยที่ยังสามารถประคับประคองชีวิตการทำงานต่อไปได้
4. ความสมดุลในชีวิตการทำงาน (Work-Life Balance)
สำหรับวัยทำงานแล้ว Work-Life Balance หรือ ความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวมีความสำคัญต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากทำงานมากไปก็อาจทำให้สุขภาพพังได้ รวมถึงชีวิตด้านอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย และจะส่งผลกระทบมาต่อชีวิตการทำงานในท้ายที่สุด ดังนั้น กิจกรรมที่ส่งเสริมให้พนักงานรู้จัก Work-Life Balance จะช่วยทำให้พวกเขาหันมาดูแลสุขภาพกายและใจมากขึ้น ถ้าพนักงานมีความสุขในการทำงาน ภาพรวมขององค์กรก็จะดีตามไปด้วย
5. พัฒนาการสื่อสาร (Communication)
ไม่ว่าเราจะทำอะไร การสื่อสารมีความเกี่ยวข้องกับทุกกิจกรรมอยู่เสมอ โดยเฉพาะในชีวิตการทำงานที่เราต้องสื่อสารระหว่างกันในทีม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อให้งานที่ออกมามีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ถึงแม้ว่าพนักงานจะทำงานเก่ง แต่ใช่ว่าพนักงานทุกคนจะสามารถสื่อสารได้เป็นอย่างดี ปัญหาด้านการสื่อสารในทีมมีอยู่หลายรูปแบบ บางคนอาจกลัวการโดนฟีดแบ็กที่ตรงไปตรงมา กลัวคนไม่รับฟังความคิดเห็น เป็นต้น เพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว เพื่อให้พนักงานทุกคนมีความกล้าในการสื่อสาร และเพื่อให้บรรยากาศการทำงานเป็นทีมมีความราบรื่นและสื่อสารกันอย่างเข้าใจ การมีกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาด้านการสื่อสารจะเป็นความรู้พื้นฐานในการทำให้พนักงานทุกคนสื่อสารกันได้ดีมากยิ่งขึ้น ทำให้เข้าใจกันและทำงานร่วมกันในฐานะทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง
6. กระชับความสัมพันธ์ในทีม (Team Relationship)
การที่แต่ละทีมจะทำงานร่วมกันให้ประสบความสำเร็จได้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่จุดนั้นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในทีม (Team Relationship) ทีมที่ทำงานดีและมีประสิทธิภาพสร้างได้จากการมีความสัมพันธ์ภายในทีมเป็นไปในทิศทางที่ดี หากคนในทีมมีลักษณะนิสัยส่วนตัวที่แตกต่างกัน ในบางทีมอาจไม่เป็นปัญหา แต่สำหรับบางทีม อาจมีคนที่ไม่ชอบพูดอยู่ในทีม ก็อาจเป็นปัญหาเวลาทำงานร่วมกัน ดังนั้น การจัดกิจกรรมที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ในทีมจะช่วยทำให้ทีมรู้สึกสบายใจที่จะทำงานร่วมกันมากขึ้น และพาพวกเขาผลักดันกันไปได้ไกลกว่าเดิม
7. เรียนรู้วิธีการดูแลใจเบื้องต้น (Mental Health First Aid)
ปัญหาสุขภาพใจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาแม้กระทั่งเวลาทำงาน หลาย ๆ คนไม่รู้ว่าเมื่อเกิดปัญหาสุขภาพใจ อย่างเช่น ความเครียด ภาวะ Burnout หรือมีภาวะซึมเศร้า ขึ้นจะต้องรับมืออย่างไร แต่ถ้าหากพนักงานมีเครื่องมือหรือคู่มือในการดูแลจิตใจไว้กับตัวเอง จะช่วยให้พวกเขารับมือกับปัญหาทางใจได้ดีขึ้น ซึ่งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลใจเบื้องต้นจะเป็นตัวช่วยที่มอบเครื่องมือในการดูแลใจให้กับพนักงาน รวมถึงเป็นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางด้านสุขภาพจิตให้แก่พวกเขาอีกด้วย เพื่อให้พนักงานมีวิธีการรับมือกับปัญหาสุขภาพใจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกนั่นเอง
8. รับมือกับภาวะ Burnout
หันไปทางไหน ใคร ๆ ก็ Burnout มนุษย์วัยทำงานหลายคน นอกจากจะต้องต่อสู้กับภาระหน้าที่การงานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขายังหาวิธีรับมือกันอยู่ นั่นก็คือ ภาวะ Burnout หรือภาวะหมดไฟ ที่ทำให้พนักงานรู้สึกไม่อยากทำงาน เหนื่อยล้า ความพึงพอใจในการทำงานลดลง หากปล่อยทิ้งไว้นานเข้า อาจส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง รวมถึงส่งผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงานอีกด้วย และอาจส่งผลให้ตัดสินใจลาออกจากงานได้ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งการจัดกิจกรรมรับมือกับภาวะ Burnout จะช่วยทำให้พนักงานรู้เท่าทันอาการ Burnout และจะได้เรียนรู้แนวทางในการหาวิธีแก้ไขเพื่อให้ตัวเองกลับมาสนุกกับการทำงานอีกครั้งได้
9. ให้ใจได้พักผ่อนด้วยการฝึกสติ (Mindfulness)
ชีวิตวัยทำงานนั้นมีแต่เรื่องวุ่นวาย งานก็เยอะ คนก็เยอะ ความเยอะเหล่านี้อาจทำให้พนักงานรู้สึกเครียดและหาความสงบสุขในชีวิตการทำงานไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าเรื่องเหล่านี้จะไม่มีทางแก้ไข หนึ่งในวิธีแก้ไขนี้คือ การฝึกสติ หรือ Mindfulness การฝึกสติเป็นกิจกรรมที่ช่วยทำให้โฟกัสอยู่กับปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล และความกดดันต่าง ๆ นำมาซึ่งความสงบ เมื่อใจสงบแล้ว มันจะช่วยให้เราหาทางออกให้กับปัญหาและรับมือกับปัญหาได้ดีขึ้น ซึ่งนำไปปรับใช้กับชีวิตการทำงานได้อย่างลงตัว
10. ดูแลร่างกายอย่างรอบด้าน (Well-being)
สุขภาพกายและสุขภาพใจส่งผลต่อกันและกันได้โดยตรง การหันมาดูแลสุขภาพอย่างรอบด้านหรือการดูแลสุขภาพอย่างองค์รวมจะช่วยทำให้สุขภาพกายและสุขภาพใจของเรามีสุขภาวะที่ดีได้ โดยเริ่มต้นทำได้จากการดูแลตัวเองอย่างง่าย ๆ เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายบ้าง หาเวลาตามใจตัวเองบ้าง เป็นต้น โดยการให้ความรู้และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้พนักงานมีการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจอย่างรอบด้าน จะช่วยให้พวกเขามีสุขภาวะที่ดี มีความพร้อมในการทำงาน มีความพึงพอใจในการทำงาน และทำให้บรรยากาศในการทำงานขององค์กรเป็นไปในทิศทางที่ดีได้อีกด้วย
สุขภาวะทางใจที่ดีของพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ ในฐานะองค์กร สิ่งที่ทำได้คือการส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพจิต การให้เครื่องมือในการดูแลสุขภาพใจแก่พนักงาน รวมถึงการจัดการนโยบายด้านการทำงานและการดูแลพนักงานต่าง ๆ ให้มีความครอบคลุมถึงประเด็นสุขภาพจิต ก็สามารถช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุขและเพิ่มความพึงพอใจในการทำงาน ทำให้พนักงานทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพของพวกเขา ส่งผลบวกต่อทั้งตัวพนักงานเองและองค์กรในระยะยาว
บริการ Psychology workshop ของ Peace Please Studio สำหรับองค์กร