จากเหตุการณ์การกราดยิงที่เป็นข่าวใหญ่ที่ผ่านมา Peace Please อยากชวนทุกคนมาถอดบทเรียนกันว่า ในฐานะผู้ใหญ่และผู้ปกครอง เราจะเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ได้บ้าง และเราจะอธิบายเหตุการณ์นี้ให้เด็กและเยาวชนเข้าใจปัญหาและความบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นได้อย่างไร?
วิธีการเลี้ยงดู ความเป็นส่วนตัว การดูแลลูกอย่างใกล้ชิด สิ่งแวดล้อม อินเทอร์เน็ต และการเสพสื่อ เป็นคีย์เวิร์ดที่เราน่าจะนึกขึ้นได้เป็นอันดับต้น ๆ เมื่อข่าวได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุในครั้งนี้ หลาย ๆ คนน่าจะทราบเป็นอย่างดีว่าผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งประเด็นนี้นำไปสู่การถกเถียงถึงเรื่องการเลี้ยงดูและแรงจูงใจอันนำไปสู่การก่อเหตุในครั้งนี้ นอกเหนือจากสองประเด็นข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ใหญ่ควรให้ความสนใจ นั่นก็คือ เด็กและเยาวชนที่จะได้รับข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ว่าเราควรอธิบาย ให้ความรู้ และพูดคุยกับพวกเขาอย่างไร
แต่ก่อนที่เราจะไปพูดถึงเรื่องการสื่อสารกับเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ มี 2 ประเด็นหลัก ๆ ที่เราอยากให้ผู้ใหญ่และผู้ปกครองควรทำความเข้าใจก่อน ประกอบไปด้วย
1. รูปแบบการเลี้ยงดู
2. การเสพสื่อ
ประเด็นแรกที่เราจะพูดถึงเป็นประเด็นที่ผู้ปกครองควรหันมามองตัวเองอย่างจริงจัง ซึ่งนั่นก็คือเรื่อง “วิธีการเลี้ยงดู” หลาย ๆ คนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าการกวดขันลูกอย่างหนักด้วยการส่งไปเรียนกวดวิชา การให้เรียนพิเศษเยอะ ๆ การหากิจกรรมให้ทำตลอดเวลาไม่มีวันหยุด เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะจะสร้างความกดดันให้กับลูกได้ แต่ในขณะเดียวกัน การเลี้ยงลูกโดยไม่ให้ความสนใจแก่พวกเขาเลย เช่น เพิกเฉยกับสิ่งดี ๆ ที่ลูกทำ ไม่มีการชมเชย ไม่มีการใช้เวลาร่วมกัน การเลี้ยงลูกด้วยรูปแบบนี้ก็สามารถทำให้พวกเขารู้สึกไม่ดีได้เช่นกัน การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะพวกเขาสามารถได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้ทุกชั่วขฯะ ซึ่งมันสามารถส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ได้โดยที่เราไม่รู้ตัวเลย เพื่อจะเลี้ยงลูกให้เติบโตมาอย่างเหมาสะม เราอยากลองให้ผู้ปกครองมาตรวจสอบตัวเองกันว่า ตอนนี้เราเลี้ยงลูกแบบไหนกัน ผ่าน ทฤษฎีความผูกพัน หรือ Attachment Style Theory ที่แบ่งประเภทการเลี้ยงดูลูกไว้ดังนี้
- การเลี้ยงดูลูกแบบเข้มงวด (Authoritarian Parenting Style)
ในครอบครัวเอเชียส่วนมาก มักมีการเลี้ยงดูลูกด้วยรูปแบบนี้ ลักษณะเด่นของการเลี้ยงดูรูปแบบนี้ คือเคร่งครัดในกฎระเบียบ มีการบังคับลูก มีการวางแผนชีวิตลูกให้เสร็จสรรพ มีความคาดหวังต่อลูกสูง แต่ไม่ได้ใส่ใจความต้องการของลูก และมักลงโทษลูกด้วยการดุ ด่า ที่แย่ไปกว่านั้นคือมีการตีหรือทำร้ายร่างกายเพื่อให้เกิดความกลัว ในอนาคต เด็กที่เติบโตมาจากการเลี้ยงดูแบบนี้อาจเป็นคนที่เคารพกฎระเบียบ แต่จะไม่กล้าแสดงออก ขาดความมั่นใจ เพราะกลัวว่าจะถูกลงโทษ อีกทั้งยังอาจปรับตัวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ยาก ขาดทักษะในการเข้าสังคม เนื่องจากทั้งชีวิตเขาถูกออกแบบมาด้วยแผนของผู้ปกครอง แต่ผู้ปกครองไม่ได้สอนให้เขารู้จักรับมือกับส่ิงที่อยู่นอกแผนนั่นเอง
- การเลี้ยงดูลูกแบบตามใจ (Permissive Parenting Style)
การเลี้ยงดูลูกรูปแบบนี้อยู่ตรงกันข้ามกับการเลี้ยงดูลูกแบบเข้มงวด ซึ่งพบได้มากในครอบครัวเอเชียบางกลุ่มที่สปอยล์ลูก ตามใจลูกอย่างหนัก ลักษณะเด่นของการเลี้ยงดูรูปแบบนี้คือไม่มีการบังคับหรือวางกฎระเบียบให้ลูก อยากทำอะไรก็ปล่อยให้เขาทำ อยากไปไหนก็ปล่อยให้เขาไป ตามใจทุกอย่าง และมักไม่มีการลงโทษลูก เพราะกลัวเขาจะไม่พอใจ และกลัวว่าพอลงโทษไปแล้ว ลูกจะไม่รัก ในอนาคตเด็กที่เติบโตมาจากการเลี้ยงดูแบบนี้อาจเป็นคนที่ไม่เคารพกฎระเบียบของสังคม ขาดวินัย แต่เป็นคนมั่นใจในตัวเอง และคิดว่าทุกคนต้องฟังเขา ตามใจเขา เนื่องจากผู้ปกครองทำแบบนั้นกับเขามาทั้งชีวิต และจากเหตุผลดังกล่าว อาจทำให้ขาดทักษะในการเข้าสังคมอีกด้วย
- การเลี้ยงดูลูกแบบทอดทิ้งหรือปล่อยปละละเลย (Uninvolved Parenting Style)
การเลี้ยงดูรูปแบบนี้มักพบในครอบครัวที่ผู้ปกครองยุ่งมาก ๆ จนไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก เรียกได้ว่าเป็นอีกขั้วของการเลี้ยงดู 2 รูปแบบที่ผ่านมา ลักษณะเด่นของการเลี้ยงดูรูปแบบนี้คือผู้ปกครองไม่มีเวลาและไม่มีความสนใจให้ลูกเลย ถึงแม้ว่าลูกจะเข้าหาก็ไม่เล่นกับลูก อาจรวมไปถึงไม่มีการแสดงออกถึงความรัก อย่างเช่น ไม่มีการกอดหรือหอมกับลูก ในอนาคตเด็กที่เติบโตมาจากการเลี้ยงดูแบบนี้อาจเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง มองโลกในแง่ร้าย ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เนื่องจากผู้ปกครองไม่เคยมอบความรักให้และไม่ได้ทำให้เขารู้สึกมีค่า ซึ่งอาจส่งผลต่อการเข้าสังคมได้ในอนาคต แต่ทั้งนี้ เด็กเหล่านี้จะเป็นคนที่สามารถอยู่รอดได้ด้วยตนเอง เนื่องจากในตอนเด็กมีการเรียนรู้ว่า ผู้ปกครองไม่ได้ตอบสนองความต้องการในชีวิตเขา ฉะนั้น คนที่ตอบสนองความต้องการในชีวิตเขาได้ คือตัวเขาเอง
- การเลี้ยงดูลูกแบบเอาใจใส่ (Authoritative Parenting Style)
การเลี้ยงดูรูปแบบนี้เรียกได้ว่าเป็นการเลี้ยงดูรูปแบบที่ดีและเหมาะสมต่อพัฒนาการเด็กที่สุด เนื่องจากมีสมดุลระหว่างการวางกฎระเบียบและความเอาใจใส่ต่อลูก ลักษณะเด่นของการเลี้ยงดูรูปแบบนี้คือผู้ปกครองให้อิสระกับลูก แต่มีการวางเงื่อนไข พร้อมใช้เหตุและผลในการวางเงื่อนไขนั้น เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่า ทำไมและเพราะอะไร อีกทั้ง ยังมีการให้ความรักและความเอาใจใส่ให้แก่ลูกเป็นอย่างดี ในอนาคตเด็กที่เติบโตมาจากการเลี้ยงดูแบบนี้อาจเป็นคนที่มั่นใจในตนเอง เคารพกฎระเบียบที่มีเหตุและผล เนื่องจากผู้ปกครองมีการวางเงื่อนไขที่สมเหตุสมผลในวัยเด็ก ส่งผลให้มีวุฒิภาวะ และมีทักษะในการเข้าสังคมได้ดี
ในประเด็นต่อมา จะขอพูดถึง “การเสพสื่อ” ของเด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและโลกอินเทอร์เน็ต รวมถึงความหลากหลายของสื่อ ทำให้ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนหมุนตามความมาไวไปไวของมันไม่ทัน จนทำให้เราก้าวไม่ทันเด็กยุคนี้ไปโดยปริยาย แต่ในฐานะผู้ปกครอง เราควรต้องทำความเข้าใจมันสักเล็กน้อย อย่างน้อยก็เพื่อให้เข้าใจลูก ๆ มากขึ้น
ดาบมีสองคมฉันใด สื่อก็มีสองด้านฉันนั้น ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็สามารถใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าถึงสื่อจำนวนมากมายมหาศาลได้ ในแง่หนึ่ง สื่อเหล่านี้สามารถใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ได้ เช่น บทเรียนออนไลน์ของวิชาต่าง ๆ การหาความรู้นอกตำรา เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยความที่โลกอินเทอร์เน็ตมันกว้างมาก ๆ ทำให้มันมีสื่อประเภทที่เราไม่อยากให้พวกเขารับรู้ในวัยนี้เช่นกัน เช่น คลิปความรุนแรงต่าง ๆ เว็บโป๊ เป็นต้น นอกจากสื่อเหล่านั้นแล้ว ยังมีโซเชียลมีเดียที่เป็นสื่อสังคมออนไลน์ ข้อดีคือมันช่วยให้เราได้พบปะพูดคุยกับกลุ่มคนที่มีความชอบเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกัน มันก็อาจมีคนใจร้ายแฝงอยู่ในนั้น เช่น นักเลงคีย์บอร์ด กลุ่มคนหัวรุนแรง เป็นต้น
นอกจากโลกอินเทอร์เน็ตจะทำให้พวกเขาได้พบเจอโลกข้างนอกที่กว้างใหญ่แล้ว สำหรับเยาวชนที่อยู่ในวัยค้นหาตัวเอง โซเชียลมีเดียยังช่วยสะท้อนให้พวกเขาได้เห็นตัวตนของตัวเอง ได้สร้างตัวตนของตัวเอง ได้เป็นตัวเอง ได้รับความสนใจ ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีแต่คนเข้าใจ ซึ่งถ้าในโลกความเป็นจริงพวกเขาไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ไม่มีพื้นที่ของตัวเอง ไม่ได้รับความสนใจจากคนรอบข้าง โลกออนไลน์นี่แหละจะกลายมาเป็นบ้านของพวกเขา ทำให้มีแนวโน้มที่จะเสพติดการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากกว่าในชีวิตจริงไปเลย
อย่างที่กล่าวไปว่าโลกออนไลน์นั้นเป็นเหมือนดาบสองคน เพราะมันมีความน่ากลัวไม่ต่างจากโลกความเป็นจริง และจะยิ่งน่ากลัวสำหรับเด็กและเยาวชนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อการใช้ชีวิตมากพอ ในฐานะผู้ปกครอง สิ่งหนึ่งที่พวกคุณทำได้ไม่ใช่การจำกัดการใช้อินเทอร์เน็ตหรือไปค้นประวัติการสืบค้นบนอินเทอร์เน็ตของลูก แต่มันคือการวางรากฐานด้านความรู้ความเข้าใจต่าง ๆ ให้แน่นหนาไว้ตั้งแต่ตน ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี การมีวิจารณญาณด้านการเสพสื่อ (Media Literacy) และที่สำคัญ พวกเขาสามารถพูดคุย ปรึกษา และถามไถ่เรื่องราวต่าง ๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตกับผู้ปกครองได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด
ซึ่งการจะวางรากฐานได้นี้ เราต้องสร้างความเชื่อใจให้กับพวกเขาให้ได้ก่อน หากใครที่มีเด็กและเยาวชนที่ยังไม่เชื่อใจคุณมากพอ อาจจะเริ่มสร้างความเชื่อใจและความสัมพันธ์อันดีไว้ตั้งแต่ตอนนี้เลย เช่น ไปถามไถ่ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร ให้โอกาสเขาพูดคุย และเรามีหน้าที่รับฟัง ให้คำแนะนำอย่างใจเย็น ไม่จำเป็นต้องวางตัวเป็นผู้สั่งสอนก็ได้ เพราะเด็กและเยาวชนในวัยนี้มักมีความรู้สึกอยากต่อต้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว วางตัวให้เป็นเพื่อน ให้เป็นคนที่พวกเขาสามารถไว้ใจได้ก็เพียงพอแล้ว นอกจากนี้ เราควรวางตัวเป็นคนที่เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็น รับฟังความสงสัยต่าง ๆ ซึ่งการที่เขาเลือกมาพูดคุยกับเราเอง จะทำให้เรารู้และสังเกตได้ว่า เขากำลังเสพสื่อแบบไหนอยู่ สื่อแบบไหนมีอิทธิพลต่อเขาในตอนนี้ หน้าที่ของผู้ปกครองอีกอย่างหนึ่งคือการเข้าไปในโลกของเขา พยายามถามไถ่ ทำความเข้าใจ เพื่อจะได้คุยกับเขารู้เรื่องมากขึ้น และถ้ามันมีสิ่งผิดปกติขึ้นมา เราก็สังเกตเห็นได้ง่ายเช่นกัน และจะได้ช่วยกันให้ความรู้กับเขาว่า สิ่งที่เขาพบเจอบนโลกออนไลน์นั้นดีไม่ดีอย่างไร ควรใช้วิจารณญาณในการับเสพสื่ออย่างไร
และประเด็นสุดท้ายที่เราอยากพูดถึง นั่นก็คือ “ในฐานะผู้ปกครอง เรารู้จักลูกของเรามากน้อยขนาดไหน” ถ้าเราเลี้ยงลูกแบบที่มีความเชื่อใจต่อกันและกัน เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกันได้ ลูกจะสามารถเป็นตัวของตัวเองเวลาอยู่กับเราได้ ทำให้เราได้รู้จักตัวตนของพวกเขาอย่างแท้จริง และหากเรารู้ว่าเขาเสพสื่อประเภทไหนอยู่ มีเพื่อนในโซเชียลมีเดียแบบไหน ใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างไร ก็จะช่วยให้เราได้รู้จักตัวตนของพวกเขามากขึ้นเช่นกัน แล้วการรู้จักตัวตนของลูกสำคัญอย่างไร? ถ้าเราไม่รู้จักตัวตนของลูกเลย เราจะไม่สังเกตเห็นความผิดปกติเมื่อมีอะไรไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น และอาจทำให้มันสายเกินไปที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน ยกตัวอย่างเหตุการณ์ ปกติลูกเป็นคนร่าเริง ชอบพูดชอบเล่าเรื่องราว แต่วันหนึ่งเขากลับเงียบขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ เมื่อเรารับรู้ถึงความผิดปกติแล้ว สิ่งที่ทำได้คือการเข้าหาพวกเขา ถามไถ่ ให้คำปรึกษา ให้การดูแล ให้เขาได้ระบาย หากมีปัญหาก็ร่วมมือกันหาทางออกไปด้วยกัน ไม่ให้เขารู้สึกโดดเดี่ยว ก็จะช่วยให้เขากลับมาเป็นลูกของเราคนเดิมได้ แต่ถ้าหากไม่ใส่ใจกัน วันใดวันหนึ่งมันอาจบานปลายไปไกลจนเขาเป็นลูกที่เราไม่รู้จักอีกเลยก็ได้
ปิดท้ายบทเรียนของเหตุการณ์นี้ ด้วยวิธีการพูดคุยกับเด็ก ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งแรกที่ทำได้ในทันทีคือการพูดคุยกับเด็ก ๆ ถามไถ่ความรู้สึกว่ามีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร ให้พวกเขาได้มีพื้นที่ที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นและความรู้สึก เราในฐานะผู้ฟังก็ควรฟังพวกเขาด้วยความตั้งใจ และคอยสังเกตหากพวกเขามีความคิดที่น่าเป็นห่วง เช่น มองว่าเหตุการณ์กราดยิงเป็นเรื่องปกติ หรือไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเลวร้าย เราจำเป็นที่จะต้องชี้แนะให้พวกเขาเห็นว่า การทำร้ายคนอื่นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และมันไม่ใช่วิธีการแสดงออกที่ดีเลย รวมถึงชี้แนะให้พวกเขาเห็นว่า หากวันใดวันหนึ่งพวกเขารู้สึกโกรธขึ้นมา พวกเขาสามารถโกรธได้ และขอให้พวกเขามาบอกความรู้สึกกับเราตรง ๆ เพื่อจะได้หาวิธีแก้ไขปัญหาและรับมือกับความโกรธนั้นไปด้วยกัน
เราเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การเลี้ยงใครสักคนให้เติบโตมาอย่างดีเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ถ้าเราอยากให้สังคมของเราดีขึ้น สถาบันครอบครัวนั้นเป็นพื้นที่แรก ๆ ที่เด็กและเยาวชนได้ซึมซับและเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับสังคมของเราและโลกใบนี้ เราจำเป็นต้องโอบอุ้มพวกเขา ให้คำแนะนำ รับฟัง และมอบความรักให้แก่พวกเขาอย่างเต็มที่ เพราะในอนาคต สังคมที่พวกเขาจะต้องใช้ชีวิตด้วยในวันข้างหน้า ล้วนถูกบ่มเพาะมาจากสถาบันครอบครัวในตอนนี้ทั้งสิ้น ฉะนั้น อย่ามองข้ามและอย่าปล่อยผ่านเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สังคมในวันหน้าจะต้องดีขึ้นกว่าวันนี้ และจะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก