ตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดใหม่ ๆ จนมาถึงตอนนี้ สิ่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลงเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าช่วง 1 ปีมานี้ ทุก ๆ อย่างได้เริ่มคลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติ แต่ด้วยปัจจัยอื่น อย่างเช่นภาวะเศรษฐกิจของประเทศโลกที่ 1 ที่มีอำนาจกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกอย่างประเทศสหรัฐอเมริกานั้นได้รับผลกระทบอย่างมาก รวมไปถึงภาวะสงครามที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ จนส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปช้ากว่าที่เราคาดาการณ์ไว้ และส่งผลกระทบให้ทั่วโลกเกิดอัตราการว่างงานสูงขึ้น เงินเดือนเท่าเดิม ดอกเบี้ยสูงขึ้น ค่าเงินต่ำลง ค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้เกิดจาก “ภาวะเงินเฟ้อ” นั่นเอง
ถ้าหากพูดถึง “ภาวะเงินเฟ้อ” อย่างเดียวโดด ๆ มันฟังดูเป็นคำที่ใหญ่และอาจจะไกลตัวพวกเรา แต่ว่าแท้จริงแล้วไม่ใช่เลย ภาวะเงินเฟ้อคือภาวะที่เงินมีค่าน้อยลง นั่นหมายความว่า เราจะไม่สามารถซื้อของต่าง ๆ ในราคาเดิมได้อีก เช่น ไอติม 1 แท่งเคยมีราคา 10 บาท ปีนี้ขึ้นราคาเป็น 15 บาท หรือนมสด 1 ลิตรมีราคา 50 บาท แต่บริษัทต้องการลดต้นทุนจึงลดปริมาณเป็น 800 กรัมในราคา 50 บาท เป็นต้น พอราคาสินค้าต่าง ๆ สูงแล้ว นั่นหมายความว่า ในการซื้อของในจำนวนเท่าเดิม เราต้องควักเงินในกระเป๋ามากขึ้น ในขณะที่เงินเดือนไม่ได้เพิ่มขึ้นทั้ง ๆ ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ถึงแม้ว่าตามปกติแล้ว เงินมันเฟ้อขึ้นทุกปีก็จริง แต่ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นอยู่นี้ส่งผลกระทบทางลบให้กับหลาย ๆ คนมากกว่าเกินที่เราทุกคนจะปรับตัวไหว เมื่อรายรับไม่สมดุลกับรายจ่าย หนึ่งสิ่งที่ตามมาคือความเครียดและวิตกกังวล เนื่องจากมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น หนึ่งวิธีที่ทำให้รายจ่ายลดลงคือการซื้อของให้น้อยลง นั่นหมายความว่า สิ่งที่เราเคยชอบกินอยู่ประจำอาจหายไป ซึ่งนั่นส่งผลต่อสภาพจิตใจของเราโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชอบกิน เพราะอาหารคือแหล่งความสุขของพวกเขา หรืออาจจะไปประหยัดในจุดอื่นแทน เช่น ไม่ไปเที่ยว ไม่ไปดูหนัง ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นล้วนเป็นกิจกรรมคลายเครียด คนเราหากไม่ได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบละก็ แน่นอนว่ามันก็ต้องมีเครียดและเก็บกดกันเป็นธรรมดา (แต่จริงๆ แล้วมันก็ไม่ควรเป็นเรื่องธรรมดานะ หาความสุขให้ตัวเองบ้างล่ะ) หรือบางคนต้องไปหาหมอ ราคาที่ต้องจ่ายให้กับสุขภาพก็อาจจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในภาวะแบบนี้ นอกจากการรักษาสุขภาพจะเป็นไปได้ยากแล้ว การจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพื่อดูแลสุขภาพก็ทำเอากุมขมับเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ความเครียดที่เกิดขึ้นจากการเงินที่ผันผวนนี้เองถูกเรียกว่า “Financial Stress” หรือ ความเครียดทางการเงิน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ “ความไม่แน่นอน” เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สภาวะเศรษฐกิจสามารถดีขึ้นหรือดิ่งลงเหวได้ในเวลาเดียวกัน พอมีความไม่แน่นอนเกิดเพิ่มขึ้นในชีวิตของเรา มันจะทำให้การคาดการณ์หรือการกำหนดแนวทางชีวิตต่าง ๆ เป็นเรื่องยากขึ้น ซึ่งความไม่แน่นอนนี้เองทำให้ความเครียดยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนอกจากจะทำให้ใจของเราเหนื่อยล้าแล้ว มันยังลามไปถึงร่างกายของเราอีกด้วย ความเครียดที่มากเกินไปและนานเกินไปไม่เคยเป็นผลดีต่อร่างกายของเราแม้แต่นิดเดียว
หากใครประสบปัญหาเรื่องนี้อยู่ คุณมีเพื่อนนะ เพราะใครหลาย ๆ คนก็ประสบปัญหาเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ค่อย ๆ หาทางออกในจุดที่ทำได้กันไป เราเป็นกำลังใจให้
อ้างอิง