ค่านิยมบ้างาน หรือการโหมทำงานหนักได้ถือว่าล้าสมัยไปแล้ว ทุกวันนี้ ไม่ว่าใครต่างก็ต้องการรักษาสมดุลในการใช้ชีวิตในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงานที่ต้องการรักษาสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัว หรือที่รู้จักกันว่า Work-Life Balance
Work-Life Balance คืออะไร?
Work-Life Balance คือ ความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว โดยมีการแบ่งเวลาให้กับการทำงานอย่างเหมาะสม เวลาทำงานไม่ก้าวก่ายเวลาส่วนตัวมากเกินไป เพื่อให้เราได้ใช้ชีวิตและมีเวลาส่วนตัวให้กับตัวเองบ้าง เพราะถ้าหากไม่สามารถรักษาสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ อาจส่งผลให้เราไม่สามารถจัดการด้านอื่น ๆ ได้อย่างเหมาะสมเพราะว่าไม่มีเวลาเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นด้านครอบครัว ความสัมพันธ์ การเงิน รวมไปถึงการดูแลตัวเองด้วย
Work-Life Balance ความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัว สำคัญอย่างไร?
ความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวส่งผลโดยตรงต่อ “สุขภาพ” ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ถ้าโหมทำงานหนักมากเกินไปสามารถทำให้ร่างกายอ่อนล้าได้ นาน ๆ เข้าอาจส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงที่เกิดจากการทำงาน เช่น นั่งนาน ๆ ทำให้เกิดโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด หรือใช้แรงกายหนัก ๆ ใช้สายตามาก ๆ ก็อาจส่งผลให้เกิดต้อได้ สายตาย่ำแย่ลงกว่าเดิม หรือบางคนทำงานหนักจนไม่มีเวลาออกกำลังกายก็ส่งผลให้สุขภาพร่างกายย่ำแย่ลงได้ ในด้านสุขภาพจิต การที่ทำงานหนักมากจนไม่มีเวลาให้กับตัวเอง ส่งผลให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าทางใจอยู่ตลอดเวลา อาจส่งผลต่ออารมณ์ได้ เช่น ทำงานหนักจนเครียดแล้วเอาความเครียดไปลงกับครอบครัว เป็นต้น การไม่ใส่ใจสุขภาพจิตอาจส่งผลให้เกิดโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น โรคซึมเศร้า หรือเกิดเป็นภาวะที่ไม่ดีต่อสุขภาพใจ เช่น ภาวะ Burn Out ภาวะเครียด วิตกกังวล ทั้งนี้ทั้งนั้น สุขภาพกายและสุขภาพใจยังส่งผลถึงกันได้ตลอดเวลา ถ้าสุขภาพกายเราไม่ดี สุขภาพใจก็จะไม่ดีตามไปด้วย เช่นเดียวกับที่สุขภาพใจย่ำแย่ รู้สึกเหนื่อยใจไม่อยากดูแลตัวเอง ก็จะส่งผลให้สุขภาพกายย่ำแย่ลงไปด้วย
พอสุขภาพย่ำแย่ “ความสามารถในการทำงานของพนักงาน” ก็จะลดลงไปด้วย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อทั้งพนักงานเองและต่อทั้งองค์กรด้วย
นอกจากนี้ ถ้าพนักงานมีภาระงานเยอะเกินไป จะส่งผลต่อ “ความพึงพอใจในการทำงาน” ได้โดยตรง เพราะถ้าหากพูดกันตามตรง คงไม่มีใครอยากทำงานเกินหน้าที่กันทั้งนั้น ถ้างานหนักไป ไม่ตรงกับที่ตกลงกันไว้ตอนแรก ความพึงพอใจในงานก็จะลดลงไป ซึ่งจะส่งผลต่อ “อัตราการลาออก” ที่สูงขึ้น ตามไปด้วย ท้ายที่สุดแล้ว องค์กรจะไม่สามารถรักษาพนักงานที่มีคุณภาพไว้ได้เลย
Work-Life Balance ความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัว ทำได้อย่างไรบ้าง?
ทั้งปัจจัยด้านสุขภาพ ความสามารถในการทำงาน ความพึงพอใจในการทำงาน รวมไปถึงอัตราการลาออก เป็นผลกระทบที่เกิดได้จากการทำงานหนักมากเกินไป ดังนั้น การให้ความสนใจกับความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวจึงเป็นเรื่องที่ทั้งพนักงานและองค์กรควรให้ความสำคัญ โดยสามารถเริ่มต้นได้จากทางพนักงานเองและจากการจัดการขององค์กรด้วย เป็นการร่วมมือของกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้ Work-Life Balance เกิดขึ้นได้จริง และมีประสิทธิภาพดีที่สุดต่อตัวพนักงานและองค์กร
วิธีสร้าง Work-Life Balance ฉบับพนักงาน
- จัดสรรเวลาการทำงานและตรวจเช็กตารางงานของตัวเองอยู่เสมอ
เป็นการเริ่มจากการจัดการตัวเอง โดยทำการตรวจเช็กตารางงานอยู่เสมอ และทำการจัดสรรจำนวนงานที่ต้องทำในแต่ละวันให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้การทำงานในแต่ละวันของเราหนักเกินไปจนรบกวน
- หาเวลาพักระหว่างวัน
การทำงานต้องใช้พลังงานจากร่างกายและสมอง ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าได้ ฉะนั้น เราควรรู้ลิมิตตัวเองว่าควรพักตอนไหน และหาเวลาพักเพื่อรีเฟรชร่างกายไม่ให้เครียดจนเกินไป การกำหนดให้มีช่วงพักเพิ่มมากขึ้น อาจช่วยให้พนักงานได้คลายความเครียดได้ เช่น พัก 10 นาที ในทุก ๆ 1 ชั่วโมง
- ลางานไปพักผ่อน
แต่ละคนจะมีช่วงเหนื่อยมากแตกต่างกัน ถ้าหากรู้สึกเหนื่อยและต้องการเวลาพักมากกว่าปกติละก็ อย่าลืมไปลาพักผ่อน เพราะการพักผ่อนอย่างเต็มที่จะเป็นการรีเฟรชทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้มีแรงกลับมาสู้งานได้อีกครั้ง
- เรียงลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต
คนเรามีชีวิตนอกเหนือจากการทำงาน เรายังมีเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การได้ทำสิ่งที่ชอบ การได้พักผ่อน ลองเช็กดูว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา และเริ่มจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต เพื่อไม่ให้ชีวิตด้านใดด้านหนึ่งได้รับการใส่ใจน้อยเกินไป
- เลิกงานให้ตรงเวลา
หลาย ๆ คนอาจจะชอบทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ตัวเองมีภาระงานที่น้อยลงในวันต่อมา แต่นั่นอาจต้องแลกมากับการได้กินข้าวช้า ได้ออกกำลังกายช้า ได้พักผ่อนช้า และทำให้กิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตได้รับผลกระทบ ลองเลิกงานตรงเวลาเพื่อมาใส่ใจร่างกายตัวเองบ้าง เพราะสุขภาพของเราก็ต้องได้รับความใส่ใจไม่แพ้การทำงานเลย
- ให้ความสำคัญกับการนอน
วัยทำงานมักจะนอนน้อยเป็นปกติ แต่มันไม่ควรเป็นเรื่องปกติ ทุกคนควรได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ประมาณ 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก หลาย ๆ คนร่างกายทรุดลงตอนอายุมากขึ้นเพราะว่านอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
วิธีสร้าง Work-Life Balance ฉบับองค์กร
- ยืดหยุ่นเวลาเข้างาน
หลังจากช่วงโควิด-19 หลาย ๆ องค์กรเริ่มมีการยืดหยุ่นเวลาทำงานเพื่อให้พนักงานได้มาทำงานในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะแต่ละคนจะมีช่วงโปรดักทีฟแตกต่างกัน เช่น บางคนชอบตื่นมาทำงานตอนเช้า เข้างาน 7 โมง ออกจากงาน 5 โมง บางคนชอบทำงานตอนสาย เข้างาน 10 โมง เลิกงาน 1 ทุ่ม เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละทีมด้วยว่ามีลักษณะการทำงานแบบไหน ต้องมีการปรับให้เหมาะสม
- จัดกิจกรรมคลายเครียด
ชีวิตการทำงานเป็นชีวิตที่ตึงเครียด การจัดกิจกรรมคลายเครียดระหว่างวันสามารถช่วยลดความเครียดได้ เช่น ชวนคนในทีมเล่นบอร์ดเกม 30 นาที ไปร้องคาราโอเกะ พักไปหาของหวานกินกันในช่วงบ่าย หรือจัดเวิร์กชอปเกี่ยวกับการดูแลจิตใจ
- เอื้อเฟื้อสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน
สภาพแวดล้อมเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อการทำงานและความโปรดักทีฟ เช่น มีการจัดสรรพื้นที่การทำงานของแต่ละคนอย่างเหมาะสม มีพื้นที่ Co-Working Space ให้ทำงานร่วมกันได้ มีพื้นที่ปลอดโปร่งในการทำงานเพื่อให้พนักงานรู้สึกไม่อึดอัด เป็นต้น
- ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นมิตรต่อพนักงาน
วัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง เคารพพนักงานทุกคน ไม่แบ่งแยกชนชั้น ย่อมเป็นการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีได้ ทำให้ชีวิตการทำงานดูเป็นด้านหนึ่งในชีวิตที่ไม่แย่
- หารือกับพนักงานเพื่อหาตรงกลางระหว่างกันอยู่เสมอ
องค์กรที่ดีคือองค์กรที่เปิดกว้างและรับฟังความเห็นของพนักงานอยู่เสมอ ถ้าพนักงานมีสิ่งใหม่ที่ดีกว่ามานำเสนอ เช่น แอปพลิเคชันไว้ใช้ในการทำงาน รูปแบบการทำงานใหม่ ๆ ทั้งหมดนี้อาจส่งผลให้ทีมทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น จึงควรมีการพูดคุยเพื่อรับฟังความเห็นและหาตรงกลางร่วมกัน เพื่อให้เป็นผลดีต่อทั้งพนักงานและองค์กรต่อไป
ถึงแม้ว่า ความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัว หรือ Work-Life Balance จะเป็นวินัยในการใช้ชีวิตที่สร้างได้ยาก แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรสร้างให้ได้ เพื่อให้เราในฐานะมนุษย์ได้ใส่ใจชีวิตด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากชีวิตการทำงาน อย่างน้อยที่สุด เราควรได้มีเวลาใส่ใจสุขภาพกายและสุขภาพใจอย่างเต็มที่ เพราะถ้าหากเราดูแลสุขภาพได้ไม่ดีมากพอ วันใดวันหนึ่งมันอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานและทำให้ชีวิตในด้านอื่น ๆ ย่ำแย่ลงตามไปด้วย ส่งผลเสียต่อทั้งตัวพนักงานเองรวมถึงองค์กรเองด้วย