สุขภาพจิต Mental Health คืออะไร? ทำไมเราทุกคนต้องใส่ใจ?

mental health matters

จากงานวิจัยและการสำรวจในแต่ละปี ทำให้เราพบว่าปัจจุบันนี้มีจำนวนผู้ป่วยซึมเศร้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้วยปัจจัยด้านบวก อย่างการเข้าถึงความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น การที่สังคมยอมรับเรื่องความป่วยทางใจมากขึ้น และความรู้ความเข้าใจปัญหาสุขภาพจิตที่มีเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้คนกล้าที่จะขอความช่วยเหลือทางการแพทย์มากขึ้น รวมถึงปัจจัยด้านลบอย่างสภาพสังคมที่มีการแข่งขันสูง สภาพเศรษฐกิจที่มีความผันผวนสูง บางคนอาจพบเจอแรงกดดันจากผู้คนในชีวิต ตั้งแต่ครอบครัวไปจนถึงเพื่อนร่วมงาน จนทำให้จำนวนผู้ป่วยซึมเศร้าและผู้ป่วยทางใจมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  

การมีสุขภาพจิตที่แย่ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ไม่ใช่เรื่องที่ควรเกิดขึ้นบ่อย ๆ เพราะว่าสุขภาพใจส่งผลต่อสุขภาพกายได้โดยตรง ดังนั้น การทำความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรให้ความสนใจให้มากขึ้น

สุขภาพจิต Mental Health คืออะไร?

สุขภาพจิต Mental Health คือภาวะของจิตใจเราที่ได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งรอบตัว ตั้งแต่อาหารการกิน การอยู่อาศัย ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ครอบครัว เพื่อน คนรัก เพื่อนที่ทำงาน เป็นต้น

การมีสุขภาพจิตดี คือภาวะจิตใจของเรารู้สึกเป็นสุขทั้งทางกายและทางใจ มีความรู้สึกเชิงบวกต่อตัวเองและผู้อื่น มองโลกตามความเป็นจริง มีความเข้าใจและรู้เท่าทันต่ออารมณ์และความรู้สึกของตนเอง รวมไปถึงมีการตระหนักรู้ว่าอารมณ์เชิงลบเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้สำหรับทุกคน และรู้ว่าควรรับมือกับอารมณ์เชิงลบอย่างไรให้เหมาะสมกับตนเอง

ในส่วนของการมีสุขภาพจิตที่ไม่ดี คือภาวะจิตใจของเรารู้สึกเป็นทุกข์ ไม่มีความสุข เศร้าหมอง สิ้นหวัง ซึ่งล้วนเป็นความรู้สึกเชิงลบ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการที่มีความรู้ความเข้าใจต่ออารมณ์และความรู้สึกของตนเองต่ำ ไม่รู้ว่าควรรับมือกับอารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจเกิดจากการดูแลสุขภาพกายได้ไม่ดีพอ เช่น ไม่ดูแลตัวเอง นอนไม่พอ บวกกับการเพิกเฉยการดูแลสุขภาพใจ เช่น ไม่ยอมรับความรู้สึกหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้น เก็บกดทางความรู้สึก และยังรวมไปถึงปัจจัยที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมและผู้อื่น เช่น อยู่ในครอบครัวที่ทะเลาะกันบ่อย พ่อแม่กดดัน ดุด่า ทำร้ายร่างกาย ก็ส่งผลให้เกิดการมีสุขภาพจิตที่ไม่ดีได้เช่นกัน

ความสำคัญของสุขภาพจิต Mental Health

สุขภาพจิตสามารถส่งผลต่อความเป็นอยู่และชีวิตมนุษย์ได้ในทุกด้านและทุกมิติ โดยเฉพาะสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ส่งผลต่อกันและกันได้โดยตรง เช่น เมื่อร่างกายของเราไม่ได้พักผ่อนย่างเพียงพอ เราจะรู้สึกได้ว่าสมองทำงานแย่ลง ส่งผลให้อารมณ์เสียง่าย และอาจลามไปจนถึงทำให้มีการตัดสินใจเกิดขึ้นโดยไม่ได้คิดอย่างถี่ถ้วนมากเพียงพอ หรือเวลาที่เกิดความเครียดขึ้นมา หากเราไม่รู้ว่ามันส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างไรหรือไม่รู้ว่าควรรับมือย่างไร สุดท้ายแล้ว ความเครียดนี้จะสะสมมาเรื่อย ๆ และอาจทำให้เราเกิดพฤติกรรมแย่ ๆ เช่น เวลาเครียดจะชอบกินเยอะเพื่อคลายเครียด ส่งผลให้น้ำหนักขึ้นและส่งผลต่อสุขภาพกาย มีโรคอื่น ๆ ตามมา 

นอกจากสุขภาพจิตยังส่งผลต่อตัวเราเองแล้ว มันยังส่งผลต่อคนรอบข้างของเรา หากเรามีสุขภาพจิตไม่ดี เราอาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและเป็นการทำร้ายจิตใจผู้อื่น เช่น เราเครียดเรื่องงาน จึงเผลอระบายอารมณ์ไปที่ครอบครัว นาน ๆ เข้าก็ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเราและครอบครัวแย่ลง 

และถ้าหากยิ่งมีการเพิกเฉยปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นต่อไป ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคทางจิตเวชขึ้นได้ มันเป็นเรื่องยากที่เราจะรู้ได้ว่า “เราเป็นอะไร” หรือ “เกิดขึ้นอะไรกับเรา” เพราะความเจ็บปวดทางใจหรือปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกหรือเห็นอาการได้ชัดอย่างการป่วยทางกายทั่วไป ดังนั้น การให้ความสำคัญและหมั่นตรวจเช็กสุขภาพจิตของเราอย่างเป็นประจำจะช่วยทำให้เราเห็นได้ชัดขึ้นว่า ใจของเราเป็นอย่างไรบ้าง ต้องการความช่วยเหลือไหม ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ตามมาได้

a man thinking while standing in the sea

อยากเริ่มต้นดูแลสุขภาพจิต Mental Health ควรเริ่มจากอะไรดี?

ควรเริ่มจากกิจกรรมที่สอดคล้องกับการดูแลสุขภาพกาย เพราะเรามีความคุ้นเคยกับการดูแลสุขภาพกายมากกว่าสุขภาพจิต ดังนั้น การเริ่มจากกิจกรรมที่คุ้นเคยจะทำให้เราเริ่มต้นได้ง่ายมากกว่า

1. การออกกำลังกาย

นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายของเราแข็งแรงได้แล้ว การออกกำลังกายยังช่วยให้มีการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกและความเครียดออกมา เช่น ช่วยเพิ่มการหลั่งของฮอร์โมน Endorphins ที่เป็นฮอร์โมนที่ช่วยคลายความเจ็บปวดและช่วยทำให้เราอารมณ์ดีขึ้น รวมถึงช่วยลดฮอร์โมนความเครียดอย่างฮอร์โมน Cortisol ช่วยทำให้เราหายเครียดได้ 

2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับส่งผลต่อสุขภาพจิตของเราได้โดยตรง สังเกตเวลาเรานอนไม่พอ เราจะรู้สึกว่าไม่มีสติเท่าที่ควรเท่าไรนัก ดังนั้น การนอน 6-8 ชั่วโมงต่อวันจะช่วยลดปัญหาเหล่านั้นได้

3. นั่งสมาธิ ทำกิจกรรมฝึก Mindfulness

การนั่งสมาธิเป็นส่วนหนึ่งของการฝึก Mindfulness หรือการฝึกสติ ซึ่งจะช่วยทำให้เราได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น อยู่กับปัจจุบันมากขึ้น และทำให้รู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งจะทำให้เรารับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นและอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น 
นอกจากนี้ การฝึกสติยังมีอีกหลากหลายรูปแบบให้เราได้ลองทำ

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การฝึกสติ Mindfulness

4. สำรวจตัวเองและหาวิธีแก้ไข

หลาย ๆ ครั้งที่เรารู้สึกไม่ดีและมีปัญหาสุขภาพจิตอาจเกิดจากการที่เราไม่รู้ลิมิตของตัวเอง ไม่รู้ว่าเราควรคลายเครียดแบบไหน ลองสังเกตตัวเองว่าอะไรบ้างที่ทำให้เกิดความเครียด เช่น เวลาที่บ้านคุยกันเรื่องการประสบความสำเร็จเราจะรู้สึกไม่ดี ให้เราสำรวจต่อไปว่า ทำไมเราถึงรู้สึกไม่ดีและลองแก้มันไป อาจเป็นเพราะเรารู้สึกว่ามันทำให้เรากดดัน เราอาจแก้ไขมันโดยบอกที่บ้านตรง ๆ ว่ามันทำให้เราเครียด เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นความเครียดเท่านั้น อารมณ์และความรู้สึกทางลบอื่น ๆ ก็ได้เช่นกัน เช่น ความกลัว ความโกรธ ความรู้สึกไม่ชอบ และอื่น ๆ

สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าควรเริ่มสำรวจตัวเองอย่างไร และกำลังหาตัวช่วยในการเริ่มดูแลสุขภาพใจของตัวเอง

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Private Workshop จาก Peace Please Studio 

5. รักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

ทั้งครอบครัว เพื่อน คนรัก หรือคนที่เรารู้จัก เราควรมีการรักษาความสัมพันธ์กับพวกเขา อาจเป็นการพูดคุย การใช้เวลาด้วยกัน การไปเที่ยว เป็นต้น และควรมีการรักษาระยะห่างระหว่างกัน แน่นอนว่าเราต้องการมีสังคม แต่สำหรับบางคน การมีครอบครัว เพื่อน คนรัก หรือคนที่เรารู้จัก อาจไม่ใช่เซฟโซนที่ดีนัก ดังนั้น จึงควรมีการรักษาระยะห่างเพื่อไม่ให้พวกเขาเข้ามาทำร้ายความรู้สึกของเราได้มากเกินไป

เพราะสุขภาพจิตส่งผลต่อชีวิตเราได้มากกว่าที่คิด เราควรหันมาดูแลภาวะจิตใจของเราให้มากขึ้น ถึงแม้ว่า สุขภาพจิตที่ดีไม่ใช่สิ่งที่สร้างได้เพียงข้ามคืน ถ้าเราตระหนักรู้ได้แล้วว่า เราต้องหันมาใส่ใจสุขภาพจิตให้ดีกว่านี้ เริ่มวันนี้ก็ยังไม่สายเกินไป