“เอ๊ะ นั่นหมายถึงเราสินะ?” Barnum Effect กับการคิดไปเองว่าเป็นเรา

เคยเป็นกันไหม เวลาคิดหรือตัดสินใจอะไรสักอย่าง บางครั้งสิ่งที่เราเลือกนั้น มันฟังดูไม่มีเหตุผลที่แน่ชัดเท่าไหร่ เชื่อว่าสิ่งนี้เป็นแบบนั้น ทั้ง ๆ ที่มันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ สิ่งเหล่านี้เกิดจาก “อคติทางความคิด” หรือ Cognitive Bias ที่เกิดจากการรับรู้ ประสบการณ์ สังคม และวัฒนธรรม ที่ส่งผลต่อการตีความของเรา จนทำให้เราเอนเอียงและมีอคติต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่บางสิ่งบางอย่างอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นจริง ๆ เช่น เราเชื่อในสิ่งหนึ่ง มากกว่าอีกสิ่งหนึ่ง 

จริง ๆ แล้ว อคติทางความคิด หรือ Cognitive Bias มีหลายประเภทมาก แต่วันนี้เราจะพามารู้จักกับ Barnum Effect กัน 

Barnum Effect คืออะไร?

Barnum Effect เป็นอคติที่ว่าด้วยการคิดว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีคนพูดถึงน่าจะเกี่ยวกับเรา ถ้าจะให้เห็นภาพชัดมากขึ้น เราขอยกตัวอย่างด้วยเรื่อง “การดูดวง” เลย เพราะการดูดวงนี่แหละคือการใช้เทคนิคจาก Barnum Effect รูปแบบหนึ่ง ลองสังเกตดูนะ คำทำนายบางสำนักจะชอบพูดถึงแบบรวม ๆ เช่น “ราศี a, b, c, d, e, f เป็นคนหน้าตาดี” แน่นอนว่า พอเป็นการพูดถึงเรื่องดี ๆ แบบนี้ ใคร ๆ ก็อยากเคลมว่าเป็นราศีของตัวเองกันทั้งนั้นแหละ หรือคุณอาจโดนหมอดูทักมาว่า “ช่วงนี้ชีวิตมีปัญหาใช่ไหม” ซึ่งเป็นการทักแบบกว้าง ๆ โดยที่ไม่ได้ระบุปัญหาลงไป พอทักแบบนี้แล้ว ไม่ว่าใครก็มีปัญหาชีวิตกันทั้งนั้นแหละ จะมากหรือน้อยก็ต่างกัน แต่ Barnum Effect จะทำให้เราเชื่อว่าหมอดูทักเราคนเดียว และคิดว่าเรื่องที่หมอดูจะทำนายทายทักต่อไปจะเป็นเรื่องอนาคตของเรา  

การที่เรานึกว่าสิ่งพิเศษเหล่านั้นหรือคำทำนายเหล่านั้นเป็นของเราเกิดจากการที่ตัวเราเองต้องการยึดตัวเองเข้ากับสิ่งเหล่านั้น โดยเฉพาะหากมันเป็นสิ่งที่ดีเราก็ยิ่งอยากให้มันเกี่ยวข้องกับเรา เช่น จากตัวอย่าง “ราศี a, b, c, d, e, f เป็นคนหน้าตาดี” ซึ่งพอมันเป็นเรื่องที่ดีแล้วมีราศีเราอีก เราก็เลยคิดเข้าข้างตัวเองไปว่า มันต้องใช่แน่ ๆ แม่นสุด ๆ ที่เราหน้าตาดีเป็นเพราะเรามีราศีนี้นี่เอง ในขณะที่หากเป็นเรื่องแย่ ๆ เราก็มีแนวโน้มที่จะไม่เชื่อและพยายามหลีกเลี่ยงมัน เช่น “ราศี x, y, z มีแนวโน้มไม่ถูกหวย” ด้วยความที่มันเป็นเรื่องที่แย่ เราก็จะไม่เชื่อคำทำนายนี้ไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ Barnum Effect ยังถูกใช้ในการตลาดต่าง ๆ อีกด้วยนะ อย่างเช่นช่วงโปรโมชันขายสินค้าที่มักมีคำโฆษณาที่สร้างความรู้สึกพิเศษขึ้นมาหน่อย อย่างคำว่า “พิเศษสำหรับคุณลูกค้าคนพิเศษ” หรือแบบที่เจาะจงมาหน่อยคือระบุชื่อเราลงไปเลย “พิเศษ สำหรับคุณ xx เท่านั้น” ซึ่งจริง ๆ แล้ว ทางธุรกิจก็มีการเก็บข้อมูลและลูกค้าคนอื่น ๆ ก็เป็นลูกค้าคนพิเศษเหมือนกับเรานั่นแหละ สำหรับประเด็นนี้ก็ถูกใช้ในด้านเทคโนโลยีเช่นเดียวกับ เพื่อใช้ในการพัฒนาประสบกาณณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience) ให้มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ฟีเจอร์ Suggested For You หรือ For You Page รวมไปถึงฟีเจอร์อื่น ๆ ที่ระบุว่า “เพื่อคุณเท่านั้น” เพื่อทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าสิ่งนี้ถูกคัดสรรมาแล้วเพื่อเรา สร้างความรู้สึกพิเศษ และทำให้เราอยากใช้งานมากขึ้นนั่นเอง

จะว่าไปแล้ว การที่แม่ค้าพ่อค้าเรียกเราว่า “สุดสวย/สุดหล่อ” นี่อาจเป็น Barnum Effect ด้วยก็ได้นะ

อ้างอิง

Barnum Effect – The Decision Lab. (n.d.). The Decision Lab.