“Toxic Productivity” Productive มากไป ก็ใช่ว่าจะดี

“ความ Productive” คำสำคัญที่ในช่วงหลายปีมานี้เราได้ยินกันบ่อยจนคุ้นหู ไม่ว่าจะมาจากวงการไลฟ์โค้ช วงการคนรักงาน วงการคนอยากพัฒนาตัวเอง รวมไปถึงวงการคนรวย ถึงแม้ว่าความหมายของ Productive จะฟังดูเป็นเรื่องที่ดี เพราะเจ้าความ Productive หรือ Productivity เนี่ยหมายถึง การใช้เวลาที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด แน่นอนว่าใคร ๆ ก็อยากใช้เวลาในแต่ละวันของตัวเองให้คุ้มค่า แต่อะไรที่มัน “มากเกินไป” ย่อมไม่ส่งผลดีในระยะยาวทั้งนั้นแหละ

เทรนด์ของการต้องเป็นคน Productive มาจากไหน? จริง ๆ แล้วเทรนด์นี้ก็อยู่คู่กับสังคมโลกทุนนิยมมาโดยตลอด เพราะถ้าเราไม่พัฒนาตัวเอง สักวันหนึ่ง ยังไงเดี๋ยวเราก็ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอยู่ดี และในวันหนึ่ง พื้นที่ในการสร้างเงินของเราก็อาจหมดไป ด้วยเหตุผลเหล่านี้ มันจึงเป็นการบีบให้เราต้อง Productive อยู่เสมอ ให้ตัวเองเก่งขึ้น พัฒนาให้มากขึ้น ทำทุกอย่างให้เร็วขึ้น เพราะทุกวินาทีเราสามารถตกเป็นรองของคนอื่นได้อยู่ตลอดเวลา อย่างที่บอกไป จริง ๆ มันก็เป็นเรื่องที่ดี แต่มองอีกด้านหนึ่ง โลกของเราเต็มไปด้วยคนที่มีความหลากหลายมาก ๆ การเป็นคน Productive อาจตอบโจทย์สำหรับเรา แต่มันอาจไม่ตอบโจทย์สำหรับคนอื่น 

Toxic Productivity จึงเป็นเหรียญอีกด้านของเทรนด์ Productivity ที่สะท้อนให้เห็นว่า การใช้เวลาไปอย่างคุ้มค่า ด้วยการทำงานหนักมากเกินไป เรียนมากเกินไป โดยไม่หยุดพักผ่อนนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจมากกว่าที่คิด

เช็กลิสต์ Toxic Productivity 

  • คิดว่าเรื่องงานต้องมาก่อน สุขภาพทีหลัง
  • รู้สึกเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา
  • การนอนหลับแย่ลง คิดว่าเวลานอนทำให้เสียเวลาพัฒนาตัวเอง
  • รู้สึกแย่เวลาปล่อยให้ตัวเองได้พักไปทำอย่างอื่น
  • ไม่สนุกกับกิจกรรมยามว่างที่เคยชอบทำอีกด่อไป
  • เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่เสมอ 
  • ไม่เคยรู้สึกพอใจกับงานที่ตัวเองทำ
  • คิดว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่นและต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด
  • ความสัมพันธ์กับผู้อื่นแย่ลง
  • เวลามีปัญหาในชีวิต มักเลือกทำงานเพื่อหนีปัญหา

แต่ก็ใช่ว่าเรื่องนี้จะไม่มีทางแก้ ทางแก้มันมีอยู่แน่ ๆ อยู่ที่ว่าเราจะ “ยอม” หันมาดูแลตัวเอง และให้ความสำคัญกับตัวเองมากขึ้นไหม

5 วิธีจัดการกับ Toxic Productivity

1. จัดเวลาชีวิตใหม่

จัดการเวลาทำงาน และเวลาดูแลตัวเอง ให้เป็นสัดส่วน ทำงานคือทำงาน พักคือพัก ไม่ใช่พักคือทำงานด้วยนิดนึง ต้องแบ่งเวลาให้เป็นสัดส่วน ไม่งั้นสุดท้ายแล้วจะไม่ได้พัก และกลับเข้าไปลูปเดิม ๆ อีก 

2. งานเป็นสิ่งสำคัญ แต่อย่างอื่นก็สำคัญ

หลาย ๆ คนเริ่มหันมาดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของตัวเองในวันที่ตัวเองอาการหนักแล้ว ชีวิตเราไม่มีแค่งาน แต่มันมีเรื่องการป่วยไข้ ทุกวันที่เราใช้ชีวิตเราเข้าใกล้ความตายมากขึ้นทุกวัน ทะนุถนอมมันหน่อย ทำงานหนักได้ เราก็ต้องดูแลสุขภาพให้ดีได้เหมือนกัน 

3. ปล่อยวางกับบางเรื่อง

โลกนี้มันหมุนไปไวมาก ๆ เราจำเป็นต้องตามให้ทันทุกเรื่องไหมนะ? การก้าวทันโลกเป็นเรื่องดี แต่ถ้าอะไร ๆ มันไวไป ลองหยุดพักสักนิด และมองเทรนด์เหล่านั้นไหลไป รอเทรนด์มันคงที่สักพัก แล้วค่อยกลับไปวิ่งตามโลกใหม่ก็ได้ ไม่เป็นไร โลกไม่เคยหยุดรอเราอยู่แล้ว เราต้องหยุดเอง ปล่อยวางเอง แล้วค่อยไปเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ใหม่อีกทีก็ไม่สายเกินไป

4. กลับมาดูแลร่างกายกันหน่อย

พักจากเรื่องงาน และหันมาดูแลสุขภาพตัวเองบ้าง เริ่มต้นด้วยการทำสิ่งที่ง่ายที่สุดในการดูแลสุขภาพร่างกาย ทำได้ด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ทั้ง 3 มื้อ การออกกำลังกาย และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 

5. เจาะลึกในใจตัวเอง

เราต้องการอะไร เราอยากเป็นใคร เราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร เรากำลังวิ่งตามอะไรอยู่ เราเหนื่อยไหม เรามีความสุขไหม เราพอใจกับชีวิตไหม ค้นหาคำตอบในจิตใจตัวเองที่ผลักดันให้เราวิ่งตามความ Productive อย่างไม่หยุดยั้ง การเป็นคนที่วิ่งเข้าสู่เป้าหมายอย่างไม่ลดละเป็นเรื่องที่ดี แต่การดูแลสุขภาพใจก็สำคัญ ถ้ามันทำให้เราเหนื่อย ทำให้เราไม่มีความสุข ทำให้เราไม่พอใจกับชีวิต อย่าลืมที่จะหาเวลาเยียวยาและฟื้นฟูจิตใจตัวเองบ้าง หนทางมันอาจจะยังอีกยาวไกล ดูแลกายและใจให้ดีเข้าไว้ และค่อยสู้ไปด้วยกันยาว ๆ 

Productive ได้ แต่อย่าลืมดูแลตัวเองกันด้วย

อ้างอิง

Weinstein, T. (2023, February 1). Toxic Productivity in Young Adults: The Mental Health Causes and Consequences. Newport Institute.