ทำความเข้าใจตัวตนหลาย ๆ แบบของเรา ด้วยแนวคิด Self-Concept

เทสต์ที่สร้าง เป็นคนหนึ่ง

ร่างที่เป็น ก็เป็นอีกคนหนึ่ง

ทำไมคนเรามีตัวตนหลายด้าน? คนที่เราคิดว่าเราเป็นอาจไม่ใช่เราก็ได้ และเราในสายตาคนอื่นก็อาจไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเราก็เป็นได้ จริง ๆ แล้วเราเป็นใครกันแน่?

Carl Rogers นักจิตวิทยาสายมนุษยนิยม (Humanistic Psychologist) ซึ่งเป็นจิตวิทยาสายหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ โดยมนุษยนิยมมองว่าเราแต่ละคนต่างมีศักยภาพที่โดดเด่นและมีความแตกต่างกัน เป็นจิตวิทยาแขนงหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่ ซึ่งก็คือเรื่อง “ตัวตน” นั่นเอง

กลับมาที่ Carl Rogers กัน จากบทความ What Is Self-Concept? โดย Kendra Cherry (2022) ได้ระบุไว้ว่า Carl Rogers ได้วาง แนวคิดเกี่ยวกับตัวตน (Self-Concept) ไว้ว่า ตัวตนของเราประกอบไปด้วย 3 อย่างดังต่อไปนี้

1. ตัวตนในอุดมคติ (Ideal Self)

คือคนที่เรา “อยาก” จะเป็น ลองนึกภาพตามไปพร้อมกับคำถามง่าย ๆ คำถามนี้นะ “คุณคิดว่าตัวคุณในอีก 5 ปีจะเป็นอย่างไร?” สำหรับบางคนอาจอยากเป็นคนที่เก่งขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น หรือเป็นคนที่รวยขึ้นก็ได้ ซึ่งความคิดเหล่านี้แหละ เป็นตัวตนที่เราอยากจะเป็น และการมีตัวตนในอุดมคตินี้เอง จะทำให้เรารู้สึกอยากพัฒนาตัวเองให้เป็นเราในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้นหรือเก่งขึ้นอีกด้วย

2. ตัวตนที่เรามองเห็น (Self-Image)

คือภาพที่เรามองเห็นตัวเอง ว่าเราเป็นใคร หน้าตายังไง มีนิสัยยังไง และมีบทบาทอย่างไร เช่น เรามองว่าเราเป็นอินโทรเวิร์ต เราเป็นทาสหมาทาสแมว เราเป็นพี่คนโต ซึ่งในบางข้อมันอาจเหมือนกับที่คนอื่นมองเราหรือไม่เหมือนกันก็ได้

3. การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem)

เป็นสิ่งที่เกิดจากการที่เรายอมรับและให้คุณค่าตัวเราเอง หากเราเป็นคนที่มีเห็นคุณค่าในตนเอง ต่อให้คนอื่นมองเราแย่ยังไง แต่ความคิดเห็นของคนอื่นจะไม่มีผลต่อเรา เพราะเรารู้คุณค่าของตัวเราเองดีที่สุด แต่สำหรับคนที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (Low Self-Esteem) คนกลุ่มนี้จะมองไม่เห็นถึงคุณค่าของตัวเอง พวกเขาจึงต้องแสวงหาคุณค่าของตัวเองจากสายตาคนอื่น เป็นการพึ่งพาการยอมรับจากคนอื่น ทำให้คนอื่นมีอิทธิพลต่อตัวตนของพวกเขามาก จนในบางครั้งมันส่งผลให้คนที่มีความพึงพอใจในตนเองต่ำยอมที่จะไม่เป็นตัวเองเพื่อให้ได้การยอมรับจากคนอื่นนั่นเอง

แน่นอนว่า เราต้องการให้ทั้ง 3 อย่างนี้ไปในทิศทางเดียวกัน Carl Rogers กล่าวไว้ว่า ถ้าตัวตนในอุดมคติ (Ideal Self) และตัวตนที่เรามองเห็น (Self-Image) สอดคล้องกัน จะส่งผลดีต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem) แต่ถ้ามันไม่สอดคล้องกัน ก็จะส่งผลในแง่ลบ เช่น เรามีตัวตนในอุดมคติ (Ideal Self) ว่าอยากเป็นคนรวย มีเงินเก็บร้อยล้าน แต่ตอนนี้ ตัวตนที่เรามองเห็น (Self-Image) มองว่าเราเป็นคนที่ยังเก่งไม่มากพอที่จะมีเงินเก็บขนาดนั้น ก็อาจส่งผลให้เกิดการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (Low Self-Esteem) ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม Self ทั้ง 3 ข้อนี้สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลา เพราะคนเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตเราล้วนสามารถส่งผลต่อตัวตนของเราอยู่เสมอ

อ้างอิง

Cherry, K. (2022, November 7). What is self-concept and how does it form?. Verywell Mind.