“งานที่ใช่” กับ “งานที่มั่นคง” Passion ยังจำเป็นในชีวิตการทำงานไหม?

การตามหาตัวเองว่าเป็นเรื่องยากแล้ว การหางานทำหลังเรียนจบเป็นเรื่องยากกว่า โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาจบใหม่สมัยนี้ ถึงแม้ว่าความต้องการของตลาดแรงงานยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การหางานที่มีค่าตอบแทนสมเหตุสมผลนั้นเรียกได้ว่าหายากเลยทีเดียว ต่อให้มีงานเหล่านั้นอยู่ แต่พวกเขาก็ยังขาดประสบการณ์ในการทำงานอยู่ดี เนื่องจากเติบโตมาในช่วงที่โควิด-19 ครองโลก การออกไปหาประสบการณ์มาเติมเต็มพอร์ตโฟลิโอจึงกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้น พวกเขาเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด แล้วทีนี้เทรนด์การทำงานของเด็กยุคนี้จะไปทางไหน? Passion ยังจำเป็นในที่ทำงานอยู่ไหม?

ใครสักคนเคยกล่าวไว้ว่า “หากได้ทำงานที่เรารัก เราคงไม่ได้รู้สึกเหมือนว่ากำลังทำงานอยู่” ในยุคหนึ่งจึงมีคนให้ความสนใจความสัมพันธ์ของ Passion กับงานเป็นอย่างมาก หากใครได้ทำงานที่ตรงตาม Passion ของตัวเอง (ที่มีจำนวนไม่มากเท่าไหร่) จะได้รับการชื่นชมและเป็นที่น่าอิจฉาของคนในสังคม เป็นเพราะว่าครั้งหนึ่ง ผู้คนเคยให้ความสนใจกับแนวคิด YOLO (You Only Live Once) เรามีกันอยู่ชีวิตเดียว เกิดมาทั้งทีก็ต้องทำสิ่งที่ชอบสิ ซึ่งในหลาย ๆ ครั้ง สำหรับหลาย ๆ คน สิ่งที่พวกเขาชอบนั้นไม่สามารถตอบโจทย์ความมั่นคงทางการเงินได้ เนื่องจากอาชีพเหล่านี้ยังไม่ได้รับความสำคัญและการยอมรับจากสังคมมากพอ ที่เห็นได้ชัดคืออาชีพด้านศิลปะ ที่โดนดูถูกและได้รับค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าค่าเรียนและค่าประสบการณ์เสียอีก

เทรนด์การทำงานตาม Passion ยังคงหลงเหลือบ้างในยุคสมัยนี้ แต่หากจะให้กล่าวกันตามตรง ในยุคหลังโควิด-19 ที่เศรษฐกิจย่ำแย่เช่นนี้ งานในฝันกับงานที่มั่นคง การตัดสินใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งคงเป็นเรื่องที่ทำให้หนักใจไม่น้อย เพราะงานทั้งสองรูปแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลให้การตัดสินใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก

แล้ว Passion ยังจำเป็นกับการทำงานอยู่ไหม? คำตอบขึ้นอยู่กับว่าเราให้คุณค่ากับสิ่งไหน ระหว่าง “สิ่งที่ชอบ” กับ “ความมั่นคง” รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างเช่น เงินเดือน เนื้องาน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า สภาพแวดล้อมโดยรวมของงาน การเติบโตในหน้าที่การงาน ฐานะทางบ้าน สภาพเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยแฝงอื่น ๆ ว่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจอย่างไร

McKinsey บริษัทผู้ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเทรนด์การทำงานของชาว Gen Z (ผู้ที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2540-2554) ในสหรัฐอเมริกา พบว่า Gen Z ประสบปัญหากับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรรมและไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตตามที่พวกเขาต้องการ หลาย ๆ คนจึงหันมาทำอาชีพที่สังคมมองว่ามั่นคงมากกว่าอาชีพที่ชอบ เพื่อให้มีค่าตอบแทนที่เพียงพอต่อการดำรงชีพได้ เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมีความแปรปรวนสูง นอกจากนี้ พวกเขายังมีความกังวลต่ออนาคตและความมั่นคงทางการเงิน อันเนื่องมาจากความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของเศรษฐกิจโลก จนทำให้เรื่องการครอบครองทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน บ้าน หรือรถ เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ในวัยนี้ไม่คำนึงถึงกัน เพราะว่าทำได้ยาก ในขณะเดียวกัน ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงเช่นนี้ ทำให้ Gen Z มีพฤติกรรมเปลี่ยนงานบ่อย หรือที่เรียกกันว่า Job Hopper เนื่องด้วยต้องการเสาะหางานที่มีค่าตอบแทนที่สูงขึ้น และเพื่อให้ได้รับประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้น   

อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจ คือ McKinsey พบว่า Gen Z เป็นกลุ่มคนที่พบปัญหาด้านสุขภาพจิตมากที่สุด เพราะพวกเขาเติบโตมากับความรู้ด้านสุขภาพจิต และในยุคที่พวกเขาเติบโตมานั้นมีการรณรงค์ประเด็นปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจากยุคก่อน ๆ จึงทำให้ Gen Z เกิดความตื่นตัวด้านปัญหาสุขภาพจิตและเข้าพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาจิตใจเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งปัญหาด้านสุขภาพจิตนี้ก็ได้กลายมาเป็นปัจจัยหลักในการเลือกทำงานอีกด้วย หากงานไหนที่ทำให้สุขภาพจิตแย่ลง ก็มีแนวโน้มว่าชาว Gen Z จะไม่ทำงานนั้น

สุดท้ายแล้ว ไม่มีคำตอบตายตัวหรอกว่า Passion จำเป็นสำหรับการทำงานจริงไหม เพราะคำตอบจะแตกต่างกันไปในแต่ละคนว่าเราให้คุณค่ากับอะไร แต่มีความจริงหนึ่งที่ไม่ว่าใครก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ถ้างานที่ทำไม่สามารถเลี้ยงชีพเราได้อย่างเพียงพอในทุกมิติ มันอาจทำให้เราไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่เราต้องการก็เป็นได้ ฉะนั้น อย่าลืมทำสิ่งที่ชอบและหาความสุขระหว่างชีวิตการทำงาน เพื่อเติมเต็มแรงใจในการใช้ชีวิตกันด้วยล่ะ เพราะสุขภาพใจก็ต้องได้รับการดูแลไม่ต่างจากสุขภาพกายเลย