Media Literacy ทักษะที่ขาดไม่ได้ในยุคที่โลกขับเคลื่อนด้วยสื่อที่อยู่ในมือทุกคน

ในยุคที่เทคโนโลยีมาไวไปไว ข้อมูลข่าวสารมีอยู่อย่างเหลือล้น พอมีข้อมูลเยอะ การกลั่นกรองก็ควรจะเยอะตามไปด้วย แต่ถ้าต้องกลั่นกรองเยอะ ก็แปลว่าจะต้องใช้เวลา ซึ่งนั่นอาจทำให้ขั้นตอนการกลั่นกรองเป็นเรื่องที่ทำให้หลาย ๆ คนมองว่าเสียเวลา จนมีการละเลยขั้นตอนนี้ไป ผลที่ได้มาอาจเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีการบิดเบือน มีการใส่ร้ายป้ายสีกันเกินความจำเป็น จนกลายมาเป็น “เฟคนิวส์” หรือ “ข่าวปลอม” ที่ปลิวว่อนตามสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งปัญหานี้กลายเป็นสิ่งที่คนยุคใหม่ที่ต้องอยู่กับเทคโนโลยีกับสื่อที่ว่องไวต้องปรับตัวและรู้เท่าทันให้ได้ ด้วย “Media Literacy”

Media Literacy คืออะไร?

Media Literacy คืออะไร? มันคือ ทักษะหรือความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งรวมไปถึงทักษะในการคิด วิเคราะห์ ทบทวน แยกแยะถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฎขึ้นในสื่อ โดยทักษะนี้เป็นทักษะที่สำคัญมากในยุคปัจจุบันที่เราสามารถรับรู้ข่าวสารได้ทั่วถึงกันผ่านทางสมาร์ตโฟน เราทุกคนได้กลายเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดและควบคุมทิศทางของสื่อไปโดยปริยาย นั่นทำให้ข้อมูลหรือข่าวสารทั้งจริงและไม่จริงต่างปะปนกันอยู่ในพื้นที่สื่อเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

เราน่าจะคุ้นเคยกับความคิดเห็นที่ว่า ผู้สูงอายุ อย่าง Gen X หรือ Baby Boomer ขึ้นไป มักเป็นกลุ่มคนที่เชื่อเฟคนิวส์หรือรับข่าวสารแบบผิด ๆ มาจากสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งสอดคล้องกับจากงานวิจัยจาก New York University และ Princeton University ว่า ผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มักมีแนวโน้มจะแชร์เฟคนิวส์มากกว่าวัยรุ่นสูงถึง 7 เท่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป เฟคนิวส์ไม่ได้ทำร้ายเพียงผู้สูงอายุแล้ว จากบทความของ Forbes (2023) ได้พูดถึงการทำวิจัยเกี่ยวกับข่าวปลอมไว้ว่า วัยรุ่น Gen Z และวัยกลางคนอย่าง Millenials ก็มีการแชร์เฟคนิวส์ไม่ต่างจากผู้สูงอายุเช่นกัน ดังนั้นแล้ว การมี Media Literacy จึงไม่ใช่ทักษะที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีไว้เท่านั้น แต่เป็นทักษะที่ทุกคนที่มีการเสพสื่ออย่างเป็นประจำควรมีติดตัวไว้ต่างหาก 

อย่างไรก็ตาม Media Literacy เป็นทักษะที่ฝึกฝนกันได้ โดยเราได้นำวิธีฝึกมาให้ลองทำ 3 ขั้นตอนด้วยกัน 

3 วิธีฝึกทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ

1. Access

การเข้าถึงข้อมูล คีย์สำคัญของขั้นตอนนี้คือการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งในแง่ของรูปแบบสื่อ เช่น คลิปข่าว บทความ หนังสือ เป็นต้น และรวมไปถึงในแง่ของการนำเสนอข้อมูลที่หลากหลายด้าน เช่น สื่อที่มีการนำเสนอข้อมูลของสองขั้วอย่างตรงไปตรงมา อย่างเช่นข่าวการเมืองควรมีการนำเสนอรายงานของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่างเป็นกลางและตรงไปตรงมา

2. Analyze and Evaluate

การวิเคราะห์และการประเมินข้อมูลข่าวสาร พอเราได้รับข้อมูลมาจากหลาย ๆ แหล่งแล้ว สิ่งที่ควรทำคือการใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ของเรา รวมถึงประเมินเนื้อหาข่าวสารว่ามีความตรงไปตรงมาหรือไม่ มีความโปร่งใสในการนำเสนอหรือไม่ มีการใส่สีตีไข่เพื่อให้เนื้อหามีสีสันมากเกินความเป็นจริงหรือไม่ 

3. Reflect

การสะท้อน หรือก็คือการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับมา เพราะเราแต่ละคนต่างมีประสบการณ์ แนวคิด ความเชื่อ และหลักการที่ยึดถือแตกต่างกัน การสะท้อนในขั้นตอนนี้คือการมองผ่านมุมของเราว่าเรามีความคิดเห็นและมีความรู้สึกต่อข้อมูลข่าวสารเหล่านี้อย่างไร ซึ่งอาจออกมาในรูปแบบการถกเถียงกับคนใกล้ตัว การโพสต์บนโซเชียลมีเดียของตนเอง หรือการแสดงความคิดเห็นบนแหล่งที่มาของข่าวสาร เป็นต้น

Media Literacy หรือ ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ เป็นทักษะที่ทุกคนและทุกช่วงวัยควรได้เรียนรู้และมีติดตัวไว้ เพื่อป้องกันตัวเองจากการเป็นเครื่องมือที่ส่งต่อเฟคนิวส์ไปเรื่อย ๆ เพราะมันอาจบานปลายจนทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาได้ ทั้งในโซเชียลมีเดียและในชีวิตจริงเลยทีเดียว 

อ้างอิง 

Andrew Guess et al., Less than you think: Prevalence and predictors of fake news dissemination on Facebook. Sci. Adv.5,eaau4586(2019). DOI:10.1126/sciadv.aau4586 

Handbook on Media Literacy • ALL DIGITAL. (2021, June 2). ALL DIGITAL.

Hobbs, R. (2021, December 14). Media Literacy & Online Learning – Renee Hobbs – Medium. Medium.

Murray, C. (2023, June 29). Gen Z And Millennials More Likely To Fall For Fake News Than Older People, Test Finds. Forbes.