ทำความรู้จัก “Media Contagion Effect” เมื่อ “สื่อ” กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีสำหรับการก่อความรุนแรงในสังคม

เหตุการณ์การกราดยิงที่เกิดขึ้นไปเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมาไม่ใช่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากการใช้ปืนเป็นครั้งแรก ๆ ในเมืองไทย แต่เป็นครั้งแรก ๆ ที่ผู้ก่อเหตุเป็นเพียงเยาวชนที่ไม่ควรแม้แต่จะมีสิทธิ์ในการครอบครองปืนเสียด้วยซ้ำ นอกเหนือจากปัจจัยด้านครอบครัวและการเลี้ยงดูที่ “อาจจะ” เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ก่อเหตุเลือกทำความรุนแรงดังกล่าวไป อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงในครั้งนี้ขึ้น อาจเป็นเพราะ “สื่อ” ด้วยก็เป็นได้

Contagion Effect เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าเป็น “พฤติกรรมเลียนแบบ” เมื่อมีการก่อเหตุขึ้นมาครั้งหนึ่ง พอทิ้งระยะเวลาไว้สักพัก อาจจะมีคนก่อเหตุตามไป คล้ายกับว่าได้รับแรงบันดาลใจจากการก่อเหตุมาจากเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ ในขณะเดียวกัน หากสื่อต่าง ๆ เริ่มมีการทำข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ พุ่งเป้าไปยังตัวผู้ก่อเหตุ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุ ทั้งชื่อเสียงเรียงนาม ประวัติส่วนตัว แรงจูงใจ วิธีการลงมือก่อเหตุ การเตรียมตัวก่อเหตุ ไปจนถึงข้อมูลด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ก่อเหตุ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองสามารถเป็นชนวนชั้นดีในการจุดไฟในใจให้ผู้ก่อเหตุในอนาคตได้ เป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบที่เกิดจากสื่อได้ สิ่งนี้เองเรียกว่า Media Contagion Effect

บทความของสมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ American Psychological Association (2016) ได้กล่าวถึงบทบาทของสื่อในการเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การกราดยิงในประเทศสหรัฐอเมริกา ภายในบทความมีการระบุถึงงานวิจัยและการศึกษาหลายชิ้นเกี่ยวกับเหตุการณ์การกราดยิง โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา ด้วยบริบทของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีเหตุการณ์การกราดยิงในจำนวนที่เรียกได้ว่าค่อนข้างมาก ทั้งการกราดยิงทั่วไปและการกราดยิงในโรงเรียน หนึ่งในผู้วิจัยกล่าวว่า การนำเสนอของสื่อช่วยกระตุ้นความกระหายต่อ “การมีชื่อเสียง” ของผู้ก่อเหตุได้เป็นอย่างดี

แล้วทำไมคนเราต้องการการมีชื่อเสียง หรือการถูกมองเห็นจนต้องลงไม้ลงมือทำร้ายคนอื่นกันเลยเหรอ?

จากงานวิจัยกล่าวว่า ทั้งนี้มีปัจจัยส่งเสริมจากตัวผู้ก่อเหตุว่าส่วนใหญ่มักมี 3 ภาวะนี้ร่วมด้วย ได้แก่

1. ความผิดปกติทางด้านจิตใจ เช่น การเป็นโรคทางจิตเวชต่าง ๆ

2. การตัดขาดจากสังคม

3. การหลงตัวเอง (Narcissism)

ทั้งสามปัจจัยนี้ส่งผลร่วมกันทำให้มีความคิดที่ผิดแปลกไปจากสังคมส่วนใหญ่ และทำให้เกิดความต้องการในการแสวงหาชื่อเสียงผ่านการกระทำที่ไม่ปกติ ในที่นี้คือการก่อเหตุกราดยิงนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีปรากฎการณ์ที่ส่งเสริมกันอีก นั่นก็คือ Copycat Effect ซึ่งเป็นส่วนย่อยของ Media Contagion Effect ก็คือเมื่อสื่อมีการนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์การกราดยิงแล้ว สิ่งที่อาจตามมาคือการเลียนแบบพฤติกรรมโดยทำตามกับเหตุการณ์ที่สื่อนำเสนอไปเลย อย่างเหตุการณ์ที่พารากอนเอง ตัวผู้ก่อเหตุก็มีการแต่งกายคล้ายกับผู้ก่อเหตุที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั่นเอง

แล้วในฐานะสื่อและผู้รับสารอย่างพวกเราที่เป็นประชาชนคนทั่วไปจะสามารถช่วยป้องกัน Media Contagion Effect ได้อย่างไรบ้าง?

การนำเสนอข่าวดังกล่าวเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะถ้าหากมีการนำเสนอเจาะลึกมากเกินไป ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุมากเกินไป อาจเป็นการสนับสนุนให้คนที่มีลักษณะร่วมกับผู้ก่อเหตุรู้สึกอยากก่อเหตุขึ้นมาบ้าง เช่น เป็นคนที่มีปัญหาด้านครอบครัวเหมือนกัน เป็นคนที่ต้องการการยอมรับจากสังคมเหมือนกัน ต้องการแสงให้ตัวเอง เป็นต้น ถ้าหากเป็นไปได้ ทั้งสื่อที่เป็นสื่อกระแสหลักอย่างสำนักข่าวและคนทำข่าวควรนำเสนอข่าวตามจรรยาบรรณของสื่อมวลชนและมีการกรองข่าวอยู่เสมอ มีการนำเสนอข่าวแต่พอควร ไม่ให้ผู้ก่อเหตุอยู่ในพื้นที่สื่อมากเกินไป และสำหรับพวกเราคนธรรมดาที่มีสื่อที่อยู่ในมือเช่นกัน ควรมีการระมัดระวังในการแชร์หรือพูดถึงเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุบนโซเชียลมีเดีย เช่น ไม่แชร์ข้อมูลผู้ก่อเหตุมากเกินไป ไม่แชร์เฟคนิวส์ เป็นต้น

หวังว่าทุกภาคส่วนและเราทุกคนจะเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาอย่างจริงจัง