“ปากท้องต้องมาก่อน” อธิบายความสำคัญของสิ่งจำเป็นในชีวิตด้วย Maslow’s Hierarchy of Needs

Maslow’s Hierarchy  of needs

เคยได้ยินวลีที่ว่า “ปากท้องต้องมาก่อน” กันไหม? แน่นอนว่า หลาย ๆ คนอาจจะคุ้นเคยวลีนี้มาจากบริบททางการเมือง แต่วันนี้เราไม่ได้จะมาชวนคุยเรื่องการเมืองกัน แต่จะมาชวนมองวลี “ปากท้องต้องมาก่อน” ในมุมมองทางจิตวิทยาที่ใช้ในการอธิบายถึงความต้องการพื้นฐานของเราทุกคน ว่าทำไมเราต้องกินให้อิ่ม นอนให้หลับ เพื่อให้ชีวิตในแต่ละวันดำเนินไปได้ วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน

สิ่งที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ เรียกว่า “ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์” หรือที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า Maslow’s Hierarchy of Needs คิดค้นขึ้นโดย Abraham Maslow นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เขาคิดค้นทฤษฎีนี้ได้ตั้งแต่ช่วงปี 1943 หรือเมื่อประมาณ 80 กว่าปีที่แล้ว แต่ในปัจจุบันก็ยังคงมีการนำทฤษฎีนี้มาใช้อธิบายพฤติกรรมของเราว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรอยู่นั่นเอง โดยทฤษฎีลำดับขั้นตามความต้องการของมาสโลว์นี้ใช้อธิบายความต้องการพื้นฐานของพวกเราตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูงสุด เรียงลำดับตามขั้นกันไป จะมีอะไรกันบ้าง ตามมาอ่านได้เลย

1. ความต้องการทางกายภาพ (Physiological Needs)

เรามาเริ่มที่ความต้องการขั้นพื้นฐานที่สุด นั่นก็คือ ความต้องการทางกายภาพ หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยคำว่า ปัจจัยสี่กันเป็นอย่างดี ซึ่งประกอบไปด้วย อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงอากาศ การนอนหลับ ความอบอุ่น การมีสุขภาพที่ดี เป็นต้น ซึ่งความต้องการเหล่านี้จะช่วยเติมเต็มให้สุขภาพของเราสมบูรณ์และมีความพร้อมสำหรับความต้องการในลำดับขั้นถัดไป

2. ความต้องการทางด้านความปลอดภัย (Safety Needs)

เมื่อร่างกายได้รับการเติมเต็มจากปัจจัยพื้นฐานแล้ว สิ่งต่อมาที่เราต้องการคือ “ความปลอดภัย” ปลอดภัยทั้งในด้านจิตใจและด้านความเป็นอยู่ ซึ่งเราสามารถเสาะหาความรู้สึกปลอดภัยได้จากสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบตัว เช่น การได้รับความคุ้มครองจากครอบครัวเมื่อเรารู้สึกไม่สบายใจ การที่สังคมรอบข้างสามารถเป็นที่พักพิงทางจิตใจได้ หรือความคุ้มครองจากสวัสดิการต่าง ๆ เช่น สวัสดิการทางด้านสุขภาพ สวัสดิการหลังเกษียณ ก็ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและเกิดความมั่นคงในชีวิตเพิ่มมากขึ้นได้

3. ความต้องการทางด้านความรักและความรู้สึกมีส่วนร่วม (Love and Belonging Needs)

ความรักในที่นี้ไม่ได้มีเพียงแค่ความสัมพันธ์แบบคู่รัก แฟน สามีภรรยา แต่ยังรวมไปถึงครอบครัว เพื่อนฝูง สังคมอีกด้วย มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ต้องการการยอมรับจากคนอื่น ต้องการที่พึ่งทางด้านจิตใจ ความสนิทสนม ความไว้เนื้อเชื่อใจ ไปจนถึงความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจากคนอื่น ๆ เพื่อให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือรู้สึกแปลกแยกจากสังคม เพราะความรู้สึกมีส่วนร่วมทางสังคมจะนำเราไปสู่ความต้องการลำดับถัดไปได้

4. ความต้องการทางด้านความเคารพ (Esteem Needs)

เมื่อเราได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างเต็มที่แล้ว เราจะหันมาให้ความสนใจกับเรื่องราวภายในตัวเราเองกันบ้าง ความต้องการทางด้านความเคารพแยกย่อยไปอีก 2 ประเภท ก็คือความพึงพอใจในตัวเอง (Self-Esteem) เช่น เรามีความมั่นใจ เราเห็นคุณค่าในต้วเอง ยอมรับ และเคารพความสำเร็จที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของเราเอง เช่น เราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้ทีมปิดดีลโปรเจกต์ได้อย่างสวยงาม และเรารู้สึกว่าเราสร้างความสำเร็จนั้นมาได้ ในส่วนอีกความเคารพรูปแบบหนึ่งคือความเคารพที่เกิดจากผู้อื่น เป็นความรู้สึกที่ผู้อื่นยอมรับ เคารพตัวตนของเรา และให้คุณค่ากับตัวตนของเรา เช่น เราช่วยปิดดีลโปรเจกต์ได้ เรามองว่าเรามีศักยภาพ ทีมของเราก็เคารพในศักยภาพของเราเช่นกัน 

5. ความต้องการทางด้านการพัฒนาตัวเอง (Self-Actualization Needs)

จริง ๆ แล้วคำว่า Self-Actualization มีความหมายที่สุดโต่งกว่าการพัฒนาตัวเองไปมากโข ความต้องการด้านนี้คือการที่เรามีความรู้สึกที่ต้องการพัฒนาตัวเองให้ถึงที่สุด หากมีสเกลวัดระดับ 1-10 ความต้องการในด้านนี้คือการที่เราผลักดันตัวเองเพื่อให้ไปถึงระดับที่ 10 ให้ได้นั่นเอง เผลอ ๆ อาจทะลุขีดจำกัดของตัวเองไปเป็นระดับที่ 11 เลยก็ได้ เพราะแต่ละคนก็มีศักยภาพและมีขีดจำกัดให้ฝ่าฟันแตกต่างกันไป ดังนั้น จะไม่แปลกถ้าเราจะเห็นว่ามีคนที่อยู่จุดสูงสุดของชีวิตแล้ว แต่เขาก็ยังหาทางต่อไปได้อีกนั่นเอง  

และนี่คือ ความต้องการทั้งหมด 5 ขั้นของมนุษย์ตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ แน่นอนว่า เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป บริบทบางอย่างเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ทฤษฎีนี้อาจจะไม่ถูกต้องตามยุคสมัยนี้มากนัก ในปี ค.ศ. 1970 มาสโลว์จึงได้เพิ่มความต้องการมาอีก 3 ข้อด้วยกัน

6. ความต้องการทางด้านการรู้คิด (Cognitive Needs)

เป็นความต้องการอยากเรียนรู้และอยากเข้าใจโลกภายนอก สภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเรา เรื่องราวต่าง ๆ บนโลก ความหมายของสิ่งต่าง ๆ บนโลก หรือเรื่องราวอื่น ๆ ที่เราสนใจ เพราะถ้าเราไม่เข้าใจโลกภายนอกก็อาจทำให้การใช้ชีวิตยุ่งยากก็ได้

7. ความต้องการทางด้านความงาม (Aesthetic Needs)

ความต้องการที่อยากจะชื่นชมความงามของสิ่งรอบ ๆ ตัว รวมไปถึงงานศิลปะประเภทต่าง ๆ เคยได้ยินสำนวนที่ว่า “Beauty is in the eyes of beholder” ที่แปลว่า ความสวยงามขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะมอง กันไหม? นอกเหนือจากการใช้ชีวิตเพื่อทำงานและหาเงินแล้ว การได้มองหาและเชยชมความงามของธรรมชาติหรืองานศิลปะจะช่วยให้เรามองเห็นความสวยงามของการใช้ชีวิตได้มากขึ้น

8. ความต้องการทางด้านการก้าวข้ามตัวตน (Transcend Needs)

ถึงแม้ว่าเราจะพูดถึงเรื่องการฝ่าฟันขีดจำกัดของตัวเองใน ความต้องการทางด้านการพัฒนาตัวเอง (Self-Actualization Needs) กันแล้ว แต่ในขั้นที่ 8 นี้ เรียกได้ว่า เป็นการก้าวข้ามที่เหนือกว่าอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นความต้องการที่ล้ำหน้าไปกว่าการพัฒนาตัวเอง ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ให้เกิดกับผู้อื่นได้ด้วย เช่น มีการสร้างอุปกรณ์บางอย่างเพื่อเปลี่ยนโลก การผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น การทำงานศิลปะที่มีการทุ่มเทแรงกายแรงใจเป็นอย่างมาก เป็นต้น

และนี่คือลำดับขั้นความต้องการทั้งหมด 8 ข้อจากทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ แน่นอนว่า ตลอดการมีอยู่ของทฤษฎีนี้ที่มีอายุกว่า 80 ปี ย่อมมีคนวิพากษ์วิจารณ์ถึงทฤษฎีนี้ว่าปรับใช้กับทุกคนได้ไหม Verywell Mind (2020 และ 2022) ได้พูดถึงทฤษฎีนี้ไว้ว่า งานวิจัยบางส่วนได้เผยว่า ความต้องการของกลุ่มตัวอย่างไม่ได้เรียงตามลำดับตามที่มาสโลว์พูดไว้เสมอไป และในส่วนของงานวิจัยที่มีการสนับสนุนทฤษฎีของมาสโลว์ยังมีกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนน้อยไปอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของมิติทางด้านสังคมและวัฒนธรรมที่ให้ค่ากับความพึงพอใจในชีวิตและความต้องการในชีวิตไม่ตรงกับที่มาสโลว์เสนอไว้ในทฤษฎี

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ได้รับการยอมรับและคนหลาย ๆ คนก็มองว่าพวกเขาสามารถปรับใช้มันกับการอธิบายความต้องการในชีวิตของตัวเองได้ และนั่นเป็นเหตุผลที่ทฤษฎีนี้ยังคงมีการใช้งานมาจนถึงทุกวันนี้นั่นเอง

อ้างอิง

MSEd, K. C. (2022, August 14). Maslow's Hierarchy of Needs. Verywell Mind.

MSEd, K. C. (2020, November 23). Updating Maslow's Hierarchy of Needs. Verywell Mind.

Wahome, C. (2022, May 13). What is Maslow’s Hierarchy of Needs. WebMD.