การสร้างเซฟโซน “พื้นที่ปลอดภัยของใจ” ในที่ทำงาน

โดย ภูษณิศา ยังอยู่, นักจิตวิทยาคลินิก

inner safe space


เคยไหม.. เวลาไปทำงาน

ฝนมักจะตกในวันที่ไม่ได้พกร่ม

แดดมักจะออกในวันที่ใส่เสื้อแขนยาว

รถมักจะติดในวันที่ต้องมีประชุม

หลายครั้งคำพูดที่ตามมาคือ “รู้อย่างนี้ฉันน่าจะพกร่มมาด้วย” “ไม่ได้ดั่งใจเลยทีอย่างนี้แดดมาออก” “โดนด่าแน่ ๆ เลยไปประชุมไม่ทัน” คำพูดเหล่านี้มักจะมีอารมณ์ ความรู้สึกตามมาด้วย เช่น เครียด ผิดหวัง ท้อใจ กดดัน โกรธ กลัว หรือวิตกกังวล เป็นต้น 

ตามกลไกของร่างกายแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป อารมณ์ที่เกิดขึ้นของเราก็จะค่อย ๆ เบาบางลง หรือเมื่อสถานการณ์ถูกแก้ไข ภาวะอารมณ์ก็จะกลับเข้าสู่โหมดปกติ แต่ในทางตรงกันข้ามสถานการณ์บางอย่างก็ไม่สามารถแก้ไขได้ทันทีทันใด การจัดการก็จะซับซ้อนมากขึ้น อาจจะต้องใช้เวลา หรือความร่วมมือจากบุคคลอื่น ทำให้เราต้องเผชิญกับอารมณ์เหล่านั้นยาวนานมากกว่าปกติ  ซึ่งหากเราไม่มีเวลาหรือไม่มีพื้นที่เพียงพอให้กับการจัดการตัวเอง สิ่งที่พ่วงตามมามักจะเป็นสิ่งที่สมอง ร่างกาย และจิตใจที่ไม่ต้องการ คือ ความรู้สึกผิดหวังทั้งต่อตนเอง และผิดหวังในสภาพแวดล้อมที่เราต้องเจอ สิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่ความคิดหรือความรู้สึกว่าฉันไม่ดีพอฉันไม่เป็นที่ต้องการ

เมื่อร่างกายรับรู้ว่าสิ่งนี้ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางจิตใจกลไกของร่างกายก็ต้องเลือกที่จะปกป้องจิตใจของเราก่อนที่จะบอบซ้ำมากไปกว่านี้ด้วยการเก็บตัวสุงสิงกับคนอื่นน้อยลงหรือแยกคนเองออกมาจากสังคม 

จะทำอย่างไรให้เราสามารถจัดการตนเองได้ภายในสิ่งแวดล้อมหรือพื้นที่ที่จำกัด?

หลายครั้งเราก็ไม่สามารถหลีกออกมาทำในสิ่งที่ตนเองรู้สึกสบายใจได้ หรือหลบไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของเราได้ในทันทีทันใด ไม่สามารถออกไปกินของอร่อย ๆ ได้  ไม่สามารถหลบไปนั่งเงียบๆบนรถได้ ไม่สามารถออกไปวิ่งเพื่อเอาพลังงานทางลบออกได้ หรือออกไปโทรหาเพื่อนที่ไว้ใจได้ ดังนั้นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยของใจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เราได้หลบหลีกออกมาสักพัก เป็นเซฟโซนที่ช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัย พื้นที่ให้เราพักพิงทางใจ ให้เกิดความมั่นคงทางจิตใจ ก่อนที่เราจะกลับไปเผชิญสิ่งต่าง ๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

พื้นที่ปลอดภัยของใจ คืออะไร? 

สถานที่ปลอดภัยของใจ คือ พื้นที่ที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกปลอดภัย ได้พักทั้งกายและใจ โดยปราศนาการขัดขวาง หรือการตัดสินจากภายนอก สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ โดยที่จะไม่ถูกว่าร้าย หรือไม่ลดคุณค่าของตัวตนของเราลง สำหรับในที่ทำงาน บางคนอาจจะเป็นห้องน้ำ ห้องอาหาร ห้องพักพนักงาน หรือในรถยนต์ส่วนตัว ก็สามารถเป็นพื้นที่ปลอดในทางใจของเราได้ แต่สำหรับบางคนที่พื้นนี้เหล่านี้อาจยังไม่สามารถสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางใจเราได้

ดังนั้นจึงมีอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้เรามีพื้นที่ปลอดภัยของใจของเราได้ คือ “Inner safe place” พื้นที่นี้ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ใหญ่ ขอเพียงเป็นที่สงบก็สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางใจได้แล้ว เพราะ… พื้นที่นี้จะถูกสร้างขึ้นผ่านภาพในจินตนาการของเรา

วิธีการสร้างพื้นที่ปลอดภัยของใจด้วย “Inner safe place”

  • หาพื้นที่ที่รู้สึกว่าสงบมากที่สุดที่พอจะหาได้ในที่ทำงาน เช่น ห้องประชุมเล็ก ห้องพักพนังงาน หรือหากมีข้อจำกัด การนั่งหลับตนบนเก้าอี้ที่โต๊ะทำงาน และใส่หูฟังที่เปิดเพลงบรรเลงเบาๆก็ได้
  • หลับตา หรือไม่หลับตา และอยู่กับลมหายใจของตัวเอง หายใจเข้าออกตามจังหวะลมหายใจของเราที่รู้สึกร่างกายอยู่ในสภาวะผ่อนคลาย ระหว่างนั้นอาจจะสำรวจความเหนื่อยล้า ความเมื้อยล้าของร่างกาย และค่อยๆผ่อนคลายให้ร่างกายรู้สึกสบายตัวมากที่สุด
  • จินตนาการภาพถึงสถานที่ที่เมื่อเราเห็นแล้วรู้สึกสบายใจ สถานที่นั้นสามารถเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริงๆ หรือสมมติขึ้นมาตามจินตนาการที่เราอยากให้เป็นก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือสถานที่แห่งนั้นขอให้เป็นสถานที่ที่ของเราเพียงลำพัง ที่จะเข้าไปอยู่แล้วรู้สึกปลอดภัย ปราศจากการตัดสินจากบุคคลอื่นที่จะสร้างความรู้สึกเจ็บปวดทางใจเราเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นภาพสถานที่นี้จึงขอให้มีเพียงเราคนเดียวที่จะเข้าไปอยู่ตรงนี้ได้ทุก ๆ ครั้งที่เราต้องการ 
  • เมื่อได้ภาพสถานที่แล้ว ลองสำรวจต่ออีกหน่อย ร่วมกับการใช้ประสาทรับสัมผัสทางร่างกายที่กำลังรู้สึกอยู่ขณะนั้น ทั้งรูป กลิ่น เสียง สัมผัส ว่าพื้นที่นี้ปลอดภัยเพียงพอหรือยังสำหรับการใช้เวลาพักใจตรงนี้แล้วหรือยัง หากยังไม่พอใจ เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ให้ภาพพื้นที่ตรงนี้ปลอดภัยสำหรับเรามากที่สุด เช่น ลองหายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ กลิ่นหรืออุณหภูมิที่เราสัมผัสได้จากจมูก ในตอนนี้เรารู้สึกพอใจหรือยัง อยากเพิ่มลด กลิ่นไหนเพิ่มเข้าไปก็ได้ เพิ่มเสียงที่เราชอบเข้าไปในพื้นที่นี้ หรือลองสำรวจร่างกายเราต้องแต่ศีรษะจรดปลายเท้าว่าเรารู้สึกมั่นคงพอที่จะอยู่ตรงนี้แล้วหรือยัง เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามใจเรา
  • เมื่อรู้สึกพึงพอใจแล้วค่อยๆใช้เวลาอยู่กับตรงนี้พักหนึ่ง หายใจเข้าออกตามจังหวะของตัวเอง และอาจจะใช้การ กลอกตาช้าๆ ตั้งแต่ทางซ้ายสุดไปยังขวาสุด สำรวจพื้นที่ให้รอบ ที่จะช่วยเชื่อมโยงความรู้สึกปลอดภัยตรงนี้ให้เข้ากับสิ่งใหม่ที่จิตใจได้สร้างขึ้น เมื่อรู้สึกสบายใจขึ้นแล้วก็ค่อย ๆ ลืมตา
  • อาจมีการตั้งชื่อให้กับพื้นที่นี้ เพื่อให้เป็นประตูเชื่อมในการเข้าถึงพื้นที่ปลอดภัยทางใจของเราได้ง่ายและเร็วมากขึ้น พื้นที่ของความปลอดภัยที่เราสามารถกลับมาพักใจที่นี้ได้ทุกเมื่อที่เราต้องการ