Gaslighting คืออะไร การจุดแก๊สเกี่ยวอะไรกับการปั่นหัว?

หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นหูกับสำนวนที่ว่า “Love is blind” หรือในภาษาไทยคือ“ความรักทำให้คนตาบอด” กันมาบ้าง สำนวนนี้มีความหมายว่า ความรักที่เรามีให้อีกคนทำให้เรามองข้ามข้อผิดพลาดและจุดด่างพร้อยของพวกเขาไปโดยปริยาย อะไรที่เป็นเขาดีไปหมด สมบูรณ์แบบไปหมดทุกสิ่งอย่าง เข้าทางกับคำที่ฮิตใช้ในทุกวันนี้อย่าง “คลั่งรัก” อะไรประมาณนั้น

แต่ความหน้ามืดตามัวที่เกิดจากความรักบังตาดูไม่ใช่สิ่งที่ดีและทำให้ความสัมพันธ์ยืนยาวเท่าไรนัก ทั้งทำให้เรามองข้ามสิ่งที่ควรแก้ไขปรับปรุง และมันยังทำให้เราตกเป็นรองในความสัมพันธ์เสียด้วย หากการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองอำนาจของฝ่ายสองฝ่าย ความรักก็เป็นเรื่องการต่อรองอำนาจของคนสองคนเช่นกัน เมื่อใดก็ตามที่ใครคนใดคนหนึ่งเริ่มมีอำนาจเหนืออีกฝ่าย สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้คือ “การใช้อำนาจเกินขอบเขต” หรือที่เรียกว่า “การควบคุม” หรือ “การบงการ” ในความสัมพันธ์ และมีการทำทุกวิถีทางเพื่อให้ความสัมพันธ์นี้เป็นไปตามที่ต้องการ เช่น เริ่มมีการโกหก หรือมีการทำสิ่งที่ทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจ ทำให้เกิดความไม่เชื่อใจหรือไม่มั่นใจขึ้นมา ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนอกใจ แต่ฝ่ายนอกใจกลับบอกว่าเป็นเพราะอีกฝ่ายไม่ใส่ใจความสัมพันธ์เอง ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว อีกฝ่ายเป็นคนที่ใส่ใจความสัมพันธ์นี้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เป็นปกติที่คนเราจะวกกลับมาคิดกับตัวเองว่า นี่เราเป็นคนผิดหรือเปล่า?

ตัวอย่างเหตุการณ์ข้างต้นเป็นสิ่งที่เรียกว่า “การปั่นหัว” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Gaslighting ที่มีความหมายตรงตัวว่าการจุดแก๊ส แต่จริง ๆ แล้วคำ ๆ นี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการจุดแก๊สแต่อย่างใด แต่มีที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง Gaslight ที่เปิดตัวฉายไปตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1944 เป็นเรื่องเกี่ยวกับสามีที่ต้องการฮุบสมบัติของภรรยาด้วยการปั่นหัวให้เธอคิดว่าตัวเองได้เสียสติและเสียการควบคุมไปแล้ว โดยใช้ไฟตะเกียงเป็นตัวช่วยดำเนินแผนการ เขาจะค่อย ๆ หรี่ไฟตะเกียงลงโดยไม่ให้ภรรยารู้ เมื่อภรรยารู้สึกว่ามืดลงและถามว่า “มันมืดลงหรือเปล่า” เขาก็จะตอบว่า “เธอคิดไปเอง” และนั่นทำให้ภรรยาเริ่มสงสัยในความคิดตัวเองขึ้นมาว่าเธอไม่ปกติเองหรือเปล่า

cr. wikipedia

การปั่นหัว หรือ Gaslighting เป็นเกมจิตวิทยาปั่นหัวที่สามารถเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ และการปั่นหัวก็มีหลากหลายวิธีมาก แกนหลักของมันคือการที่ทำให้อีกฝ่ายเกิดความสงสัยและไม่มั่นใจในตัวเองขึ้นมา และนี่คือ 5 ตัวอย่างของพฤติกรรมการปั่นหัวที่เรานำมาฝากให้อ่านกัน

5 ตัวอย่างของ Gaslighting พฤติกรรมการปั่นหัว

1.โกหกหน้าตาย

อีกฝ่ายเริ่มมีการโกหกทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเรารู้ แต่ยังคงดึงดันโกหกต่อไป และโบ้ยว่าเป็นเราเองที่เป็น “คนคิดมากไปเอง” เมื่อเกิดเหตุการณ์ประมาณนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เข้า เราจะเริ่มวกกลับมาคิดที่ตัวเองว่าเราเป็นคนผิดหรือเปล่า เราคิดมากไปเองหรือเปล่า กลายเป็นว่าเราต้องมาสงสัยตัวเองแทน   

2. ปฏิเสธหัวชนฝา

เมือใดก็ตามที่เรามีคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ เช่น ถามว่าเมื่อวานออกไปเที่ยวกับใคร หากอีกฝ่ายตอบปฏิเสธว่าเมื่อวานไม่ได้ไปเที่ยว และมีการบอกว่าเราเป็นคนที่จำผิดเอง เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ซ้ำ ๆ อาจเป็นเราเองที่เริ่มสงสัยว่า หรือว่าเราเป็นคนจำผิดเอง เป็นเราที่ผิดเองที่จำไม่ได้

3. ไม่ใส่ใจความรู้สึกของเรา

อีกฝ่ายมีการแสดงพฤติกรรมหรือทำสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เราไม่สบายใจ เช่น ติดบุหรี่ ติดเหล้า หรือแอบไปคุยกับคนอื่น โดยที่ไม่สนใจว่าเราจะรู้สึกอย่างไร และอาจมีการพูดบอกซ้ำ ๆ ว่า “แค่ขำ ๆ เอง” หรือ “เราคิดมากไปเอง” ซึ่งอาจทำให้เรารู้สึกว่า ความรู้สึกและความอ่อนไหวของเราเป็นปัญหา 

4. ดื้อด้านและไม่รับฟัง

หากเมื่อใดก็ตามที่เราต้องการจะคุยหรือปรับความเข้าใจกัน อีกฝ่ายอาจปฏิเสธที่จะพูดคุย หรือมีการพยายามทำให้เรื่องที่เรากังวลอยู่เป็นเรื่องเล็ก ๆ ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร หรืออาจมีการรับฟังแต่ไม่ยอมให้เราพูดจบและมีการพยายามพูดแก้ตัว พูดเข้าข้างตัวเอง เพื่อให้บทสนทนานี้จบได้ไวและรวดเร็วที่สุด

5. เราเองที่เป็นฝ่ายต้อง “ขอโทษ”

เวลามีปัญหาหรือเรื่องที่เราไม่สบายใจที่เกิดจากตัวอีกฝ่าย กลายเป็นว่าอีกฝ่ายไม่ได้มีการขอโทษ และมีการพูดโน้มน้าวให้เรารู้สึกผิดเองด้วยการใช้คำพูดประมาณว่า 

“เธอคิดมากไปเอง” 

“เธออ่อนไหวไปเอง”

“เรื่องเล็กแค่นี้เอง”

หรือคำพูดอื่น ๆ ทำนองนี้ จนทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นตัวปัญหาในเรื่องนี้เสียเอง จนสุดท้ายต้องเป็นฝ่ายเอ่ยปากกล่าวขอโทษก่อน นอกจากพวกเขาจะไม่รู้สึกผิดแล้ว ยังลอยหน้าลอยตาทำผิดซ้ำ ๆ อีกด้วย

การปั่นหัว หรือ Gaslighting สามารถซ่อนตัวอยู่ในทุกความสัมพันธ์ได้อย่างแยบยลจนทำให้หลาย ๆ คนกลายเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว ทั้งความสัมพันธ์แบบคนรัก เพื่อน ครอบครัว หรือแม้กระทั่งคนรู้จักบนอินเทอร์เน็ตก็ตาม หากพบเจอเหตุการณ์หรือความสัมพันธ์แบบนี้เข้า ลองตรวจสอบและปรึกษาคนที่ไว้ใจได้อย่างรอบคอบเสียก่อน พยายามหาทางแก้ไขร่วมกัน แต่ถ้าไปไม่ไหวจริง ๆ การปลีกตัวออกมาน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เราไม่แนะนำให้ทนอยู่ต่อในความสัมพันธ์แบบนี้ เพราะว่ามันส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจได้ในระยะยาวและทำให้เรามีปัญหาในการเชื่อใจคนได้อีกนานแสนนาน 

อ้างอิง

Clinic, C. (2023, December 14). What Is Gaslighting? Cleveland Clinic.

Gaslighting. . .ผิดจริงหรือแค่ทริคทางจิตใจ? (2022, September 5). คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Morris, S. Y. (2021, November 24). How to Recognize Gaslighting and Get Help. Healthline.

What Is Gaslighting? (2020, November 24). WebMD.