“Comfort Food” เมนูเยียวยาจิตวิญญาณในวันที่ใจเหี่ยวเฉา

Nam ngiao Rice Noodle

ทุกคนมีเมนูอาหารที่กินเป็นประจำเมื่อรู้สึกแย่ไหม?

เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าคุณมี และอาจไม่ได้มีเพียงจานเดียวด้วย แต่ละเมนูเป็นตัวแทนความรู้สึกและความทรงจำที่ทำให้เราอุ่นใจเมื่อนึกถึง อาจเป็นกับข้าวฝีมือแม่ ฝีมือส้มตำสุดแซบของคุณป้าหน้าปากซอย ก๋วยเตี๋ยวต้มยำสุดจี๊ดของร้านประจำ หรืออาจเป็นเบอร์เกอร์ชีสเยิ้ม ๆ มันฝรั่งทอดอมน้ำมัน หรือจะเป็นซุปมิโสะอุ่น ๆ ข้าวแกงกะหรี่รสกลมกล่อมของร้านดัง หรือจะเป็นของหวานอย่างเค้กนมสด ครัวซองต์อัลมอนด์ของคาเฟ่ร้านประจำ หรือจะเป็นขนมไทยอย่างขนมเบื้องร้านคุณป้าในตลาด ฝอยทองหวานจับใจ หรือจริง ๆ แล้วจะเป็นเมนูไหนก็ได้ที่คุณกินแล้วรู้สึกอุ่นใจเหมือนได้นั่งกินข้าวกับความทรงจำอันอบอุ่นในอดีต

เหล่าอาหารจานโปรดที่ยกตัวอย่างมานี้ มีชื่อเรียกว่า Comfort Food แปลตรงตัวได้ว่า อาหารที่กินแล้วทำให้รู้สึกสบายใจ เป็นเหมือนกับเซฟโซนแต่มาในเวอร์ชั่นอาหาร แต่ละคนก็จะมี Comfort Food แตกต่างกันไปตามความชอบ ความทรงจำ และความรู้สึกที่ยึดโยงอยู่กับอาหารแต่ละจาน อย่างอาหารจานโปรดของผู้เขียนเป็นซุปหัวไชเท้า เป็นเมนูที่คุณแม่ชอบทำให้ทานตอนฤดูหนาว ซุปอุ่น ๆ กินตอนฤดูหนาวนี่ทำให้อุ่นใจสุด ๆ ไปเลย รวมถึงเมนูอย่างแกงจืดหรือซุปมิโสะก็ด้วยเช่นกัน 

เหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกอุ่นใจทุกครั้งเมื่อกินอาหารจานโปรดมีหลากหลายเหตุผลด้วยกัน เช่น อาหารเหล่านี้ช่วยกระตุ้นความทรงจำดี ๆ ที่เรามี กระตุ้นโดปามีน (Dopamine) หรือสารแห่งความสุข ซึ่งจะยิ่งทำให้เรารู้สึกดีขึ้นเมื่อได้ทานอาหารจานนั้นไป นอกจากนี้ Comfort Food ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจทางวัฒนธรรมของผู้คน กล่าวคือ Comfort Food ในใจของใครหลาย ๆ คน มักเป็นอาหารที่ทานบ่อย รวมถึงมีความยึดโยงกับสังคมและวัฒนธรรมของผู้คน จากบทความ Craving comfort: bonding with food across cultures หรือ การโหยหาความสบายใจ: ความผูกพันของผู้คนกับอาหารในแต่ละวัฒนธรรม จากหน่วยงาน Human Relations Area Files มหาวิทยาลัย Yales ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและวัฒนธรรมของผู้คนไว้ว่า Comfort Food มีความยึดโยงกับวัฒนธรรมและมีความเป็นท้องถิ่นสูง เพื่อน ๆ ลองนึกภาพตามนะ อาหารจานโปรดของเรามักเป็นเมนูที่เรากินบ่อยและเติบโตมากับการทานอาหารจานนั้น ซึ่งอาหารที่เรากินบ่อย มักเป็นอาหารที่ทำได้ง่าย มีวัตถุดิบที่หาได้ง่าย และพบได้ทั่วไปในที่ที่เราอยู่ ยกตัวอย่าง หากเราเป็นคนอีสาน อาหารที่ทานบ่อยอาจเป็นอาหารรสเผ็ด อาทิ ส้มตำ ต้มแซ่บ ซึ่งแน่นอนว่า เมนูเหล่านี้ถือเป็นอาหารโปรดของใครหลาย ๆ คนอย่างปฏิเสธไม่ได้ 

noodle soup

อย่างที่เราได้กล่าวไปว่า Comfort Food เป็นอาหารที่พวกเรามักได้ทานบ่อยและเป็นอาหารที่เติบโตมากับเรา เป็นเมนูที่เราผูกพันและมีความทรงจำดี ๆ ร่วมกันมากมาย อีกทั้งยังรวมไปถึงผู้คนในความทรงจำเหล่านั้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน คนรัก หรือคนแปลกหน้าในร้านอาหาร เป็นการช่วยกระชับความสัมพันธ์และเป็นเครื่องมือในการสร้างความทรงจำชั้นดี และเหตุผลข้อสุดท้าย คือ Comfort Food ทำให้เรารู้ว่าเมนูนี้อร่อยโดยไม่ต้องลุ้น เพราะเราทุกคนต่างใช้ชีวิตท่ามกลางความไม่แน่นอน มีอะไรให้ลุ้นระทึกอยู่ทุกเวลา ซึ่งหลาย ๆ ครั้งในหลาย ๆ สถานการณ์ เราไม่สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้เลย ซึ่งการคาดเดาไม่ได้นี้ส่งผลให้ร่างกายเราเครียดและไม่ผ่อนคลาย แต่การได้ทานอาหารจานโปรดนั้นทำให้เรารู้ว่ารสชาติมันจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่ต้องลุ้น ไม่ต้องเครียด เราเพียงแค่ต้องปล่อยใจดื่มด่ำไปกับรสชาติอาหาร

ถ้าวันไหนรู้สึกไม่ดีและต้องการรสชาติที่คุ้นเคยเพื่อปลอบประโลมจิตใจ อย่าลืมนึกถึง Comfort Food ของตัวเองนะ 🙂

อ้างอิง

Barone, F. (2021, March 4). Craving comfort: bonding with food across cultures. Human Relations Area Files – Cultural Information for Education and Research.

Hardman, C. (n.d.). The psychology of comfort food – why we look to carbs for solace. The Conversation.

Moyer, M. W. (2022, November 24). The Science of Comfort Food. The New York Times.

The Science of Comfort Foods : Nutrition for NON-NutritionistsTM. (2020, May 30).