Attribution Theory ทฤษฎีแรงจูงใจ ที่พาเราไปหาสาเหตุของสิ่งที่เราทำในทุก ๆ วัน 

เคยสงสัยไหมว่า การที่เราเลือกทำอะไรสักอย่าง หรือเลือกแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งออกไป มันเกิดจากสาเหตุอะไร? ลองยกตัวอย่างเวลาทำข้อสอบ มีสาเหตุอะไรกันบ้างจะทำให้เราสอบผ่าน?

  1. เราเก่งอยู่แล้ว
  2. ตั้งใจอ่านหนังสือเอง
  3. ข้อสอบง่าย
  4. บังเอิญเดาข้อสอบถูก

วันนี้เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจกับทฤษฎีทางจิตวิทยาอันหนึ่งที่จะช่วยทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ และพฤติกรรมของเราได้ดีขึ้น นั่นก็คือ Attribution Theory ทฤษฎีว่าด้วยที่มาของแรงจูงใจในการแสดงพฤติกรรม

Attribution Theory ทฤษฎีว่าด้วยที่มาของแรงจูงใจในการแสดงพฤติกรรม คืออะไร?

ทฤษฎีนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Bernard Weiner นักจิตวิทยาสังคม โดยมีองค์ประกอบทั้งหมด 2 อย่างเป็นหลัก นั่นก็คือ ที่มาของเหตุการณ์ (Locus of Causality) และความเสถียร (Stability) ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ก็มีองค์ประกอบย่อย ๆ ลงไปอีก ดังนี้ 

ที่มาของเหตุการณ์ (Locus of Causality) มีแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ซึ่งก็คือปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

1. Internal : ความเชื่อที่คิดว่าสิ่งต่าง ๆ เกิดจากปัจจัยภายในตัวเรา เป็นสิ่งที่เราควบคุมได้และอยู่ภายใต้การดูแลของเรา เช่น ความมุ่งมั่นของเรา ความสามารถส่วนตัว ประสบการณ์ส่วนตัว ความแข็งแรงทางร่างกาย เป็นต้น  

2. External : ความเชื่อที่คิดว่าสิ่งต่าง ๆ เกิดจากปัจจัยภายนอก เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เช่น ผู้คนรอบข้าง สภาพอากาศ บรรยากาศในการทำงาน ความโชคดี เป็นต้น

ความเสถียร (Stability) แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบเช่นกัน ได้แก่ ปัจจัยที่มีเสถียร และปัจจัยที่ไม่เสถียร

1. Stable : ปัจจัยที่เสถียรคือปัจจัยที่มีความคงที่ อาจเป็นสิ่งที่เราทำมาอย่างสม่ำเสมอ หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เช่น การอ่านหนังสือทุกวัน การตั้งใจทำงานทุกวัน ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าวันพรุ่งนี้เราก็ยังคงทำสิ่งนี้อยู่ หรือค่านิยมของแต่ละสังคมหรือแต่ละวัฒนธรรมที่ยังคงถือมาถึงปัจจุบัน เช่น ค่านิยมการให้ความเคารพผู้ใหญ่ เป็นต้น  

2. Unstable : ปัจจัยที่ไม่มีความเสถียรคือปัจจัยที่ไม่มีความคงที่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและคาดเดาไม่ได้ เช่น การเล่นกีฬาเป็นบางครั้งบางคราว โรคติดต่อ สภาพอากาศที่แปรปรวน เป็นต้น 

ซึ่งพอรวม 2 ปัจจัยนี้เข้าด้วยกัน จะออกมาเป็นตารางหน้าตาแบบนี้ที่สามารถใช้ในการอธิบายเหตุผลของพฤติกรรมเราได้อย่างง่าย ๆ 

ตารางอธิบายเหตุผลของพฤติกรรมตาม Attribution Theory ทฤษฎีว่าด้วยที่มาของแรงจูงใจในการแสดงพฤติกรรม

InternalExternal
Stableความสามารถของตัวเรา (Ability)ความยาก-ง่ายของสิ่งที่ต้องทำ (Task Difficulty)
Unstableความพยายาม (Effort)โชค (Luck)

ถ้าอ่านตารางไม่เข้าใจล่ะก็ เราจะมาทำความเข้าใจแต่ละช่องไปด้วยกัน โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์การสอบผ่าน คุณคิดว่าคนเราจะสอบผ่านได้นั้นจะมีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง?

สอบผ่านด้วย “ความสามารถของตัวเรา (Ability)” 

เกิดจาก Internal + Stable เช่น ความตั้งใจอยากสอบผ่าน (Internal) + การอ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอ (Stable)

เพราะความตั้งใจอยากสอบผ่านเป็นความตั้งใจที่เกิดขึ้นภายในตัวเราเอง จึงถือว่าเป็นปัจจัยภายใน ในขณะที่การอ่านหนังสืออย่างเป็นประจำถือเป็นสิ่งที่มีความสม่ำเสมอ จึงถือว่าเป็นปัจจัยที่เสถียร แน่นอนว่า หากเราตั้งใจอ่านหนังสืออย่างเป็นประจำก็สามารถทำให้เราสอบได้อย่างง่ายดายด้วยความสามารถของตัวเอง

สอบผ่านด้วย “ความพยายาม (Effort)”

เกิดจาก Internal + Unstable เช่น ความตั้งใจอยากสอบผ่าน (Internal) + การอ่านหนังสือ 3 วันก่อนสอบ (Unstable)

เพราะความตั้งใจอยากสอบผ่านเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความคิดของเรา จึงถือว่าเป็นปัจจัยภายใน ในขณะที่เราดันมาอ่านหนังสือช่วง 3 วันก่อนสอบ แทนที่จะอ่านมาตลอดทั้งเดือน จึงถือว่าเป็นปัจจัยที่ไม่มีความเสถียรหรือไม่สม่ำเสมอ แต่ด้วยความพยายามจากแรงใจภายในจึงทำให้มีความรู้มากพอในการทำข้อสอบผ่านนั่นเอง 

สอบผ่านด้วย “ความยาก-ง่ายของสิ่งที่ต้องทำ (Task Difficulty)” ในกรณีนี้คือข้อสอบง่าย 

เกิดจาก External + Stable เช่น ครูออกข้อสอบง่าย (External) + ครูออกข้อสอบง่ายเป็นประจำ (Stable)

เพราะเราไม่สามารถกำหนดการออกข้อสอบได้ จึงถือว่าเป็นปัจจัยภายนอก ในขณะเดียวกัน ครูคนนี้ก็ดันชอบออกข้อสอบง่ายโดยตลอด จึงถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความเสถียรหรือสม่ำเสมอ ซึ่งด้วยการที่ครูออกข้อสอบง่ายอย่างเป็นประจำจึงทำให้เราสอบผ่านได้น้่นเอง 

สอบผ่านด้วย “โชค (Luck)” 

เกิดจาก External + Unstable เช่น ข้อสอบยาก (External) + เดาข้อสอบถูก (Unstable)

เพราะเราไม่สามารถกำหนดความยากง่ายของข้อสอบได้เอง จึงถือว่าเป็นปัจจัยภายนอก และการเดาข้อสอบถูกเป็นเรื่องของการสุ่มล้วน ๆ และเราไม่สามารถควบคุมการเดาข้อสอบได้ จึงถือว่าเป็นปัจจัยที่ไม่มีความเสถียร แต่การที่ข้อสอบยากและเราดันสอบผ่านก็เป็นเรื่องของโชคล้วน ๆ เลย 

นอกจากนี้ Attribution Theory ยังสามารถนำไปปรับใช้เพื่ออธิบายความคิดและประสบการณ์ของตัวเองได้อีกด้วย เช่น การปิดโปรเจกต์ได้อย่างสวยงาม การทำงานได้อย่างราบรื่น และอีกมากมาย ซึ่งประโยชน์ของมันนอกจากจะช่วยให้เราได้เช็กความคิดและความสำเร็จของตัวเองแล้ว ยังช่วยให้เราหาช่องโหว่ของตัวเองได้ด้วย เช่น ถ้าหากเราสอบไม่ผ่าน มันอาจเกิดจากปัจจัยภายในอย่างการที่เราอ่านหนังสือไม่มากพอ เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ข้อสอบยาก หรือเกิดจากปัจจัยที่มีความเสถียรอย่างเช่น ความพยายามยังไม่มากพอ หรือปัจจัยที่ไม่มีความเสถียรอย่างการที่สุขภาพมีปัญหา ทำให้สอบไม่ผ่าน เป็นต้น

อ้างอิง

Weiner, B. (1982, January 1). An Attribution Theory of Motivation and Emotion. ResearchGate.

Hopper, E. (2018, October 1). Attribution Theory: The Psychology of Interpreting Behavior. ThoughtCo.